ท่าเทียบเรือ ... ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมีจริงหรือ
จังหวัดภูเก็ต ไข่มุกเม็ดงามแห่งอันดามัน สถานที่ท่องเที่ยวเป็นที่รู้จักมีชื่อติดระดับโลก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมความงามไม่ขาดสาย ชาวต่างชาติบางคนชื่นชมในธรรมชาติที่สวยงาม ตัดสินใจโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูเก็ตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณติดชายฝั่งทะเล ที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม จึงทำให้ที่ดินบริเวณชายฝั่งทะเลมีการก่อสร้าง บ้านจัดสรร รีสอร์ท และโรงแรม เพื่อขายและบริการแก่กลุ่มชาวต่างชาติกระเป๋าหนักนั่นเอง
พื้นที่ที่มีบริเวณติดชายฝั่งทะเลมีความสวยงามอีกแห่งในตำบลป่าคลอก คือ บ้านยามู หมู่บ้านเล็กๆที่ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล จึงทำให้เหมาะกับการก่อสร้างที่พักอาศัย สนองความต้องการของคนที่ชอบมีโลกส่วนตัว ในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ ดังนั้นหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ จึงเต็มไปด้วยนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ
ในอดีตที่ดินในหมู่บ้านยามูนั้น เป็นของชาวบ้านที่เข้ามาตั้งรกราก ต่อมาถูกเปลี่ยนมือจนกลายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลของบริษัทต่างประเทศที่เข้ามากว้านซื้อจนเกือบหมด ปัจจุบันชาวบ้านยามูดั้งเดิมมีสภาพความเป็นอยู่อย่างแออัด ท่ามกลางฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง การขุดเจาะ ผ่า ตัดสร้างทางเข้าออกในหมู่บ้านจัดสรรสุดสวย รีสอร์ทหรู ผลพวงความเดือร้อนที่ชาวบ้านได้รับอีกประการคือ การปิดกั้นเส้นทางสาธารณะที่ชาวบ้านเคยใช้อยู่เป็นประจำ
การแข่งขันทางธุรกิจที่มุ่งแต่จะอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวกำลังผุดขึ้นรวดกับดอกเห็ดก็คือ การสร้างท่าเทียบเรือยอช์ท ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศไทย มีความหลากหลายทั้งทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบก ทางทะเล และทรัพยากรชายฝั่ง ในขณะที่จังหวัดภูเก็ตมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือในหลายพื้นที่ ทั้งท่าเทียบเรืออ่าวปอ ท่าเทียบเรือเกาะมะพร้าว ท่าเทียบเรือเกาะนาคา ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ล่าสุดที่กำลังรอการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น คือโครงการท่าเทียบเรือยามู สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ น่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยว คงจะมีก็แต่ชาวบ้านที่อาศัยหาอยู่หากินในบริเวณโดยรอบแหลมยามูและอ่าวป่าคลอกกระมัง ที่จะต้องวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งต่อวิถีชีวิต สภาพทรัพยากรชายฝั่งทะเล และการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดจากการพัฒนาการท่องเที่ยว
สำหรับแหลมยามูนั้นตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของอ่าวป่าคลอก มีแหล่งทรัพยากรที่สำคัญทั้งแหล่งหญ้าทะเล แหล่งปะการัง ที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นเขตเศรษฐกิจชุมชนที่สำคัญของชาวบ้าน ในการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ได้แก่ การตกเบ็ด ทอดแห วางอวน ตกปูดำ เป็นต้น
บริษัท อันดามัน เอนไวรอนเมนทอล คอนซัลแตนท์ จำกัด รับผิดชอบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นว่า ในพื้นที่โครงการไม่พบปะการังและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เนื่องจากมีลักษณะเป็นดินเลนโคลน และน้ำมีความขุ่นมาก
จากนั้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน เข้าตรวจสอบทรัพยากรชายฝั่ง ตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น พบว่ารายงานดังกล่าวขัดแย้งกับความจริง เนื่องจากในบริเวณที่จะทำการก่อสร้างท่าเทียบเรือยามูนั้น มีแนวปะการัง อยู่ด้านขวาของโครงการก่อสร้างเป็นบริเวณกว้างถึงปลายแหลมยามู และบางส่วนของแนวปะการัง ทางด้านซ้ายของโครงการฯห่างจากโครงการก่อสร้างประมาร 200 เมตร รวมพื้นที่แนวปะการังทั้งหมดประมาณ 75 ไร่ ปะการังมีชีวิตประมาณ 25 % ปะการังตาย 60 % แต่ยังมีความสำคัญในระบบนิเวศวิทยาชายฝั่ง นอกจากนี้ พบหญ้าทะเล 4 ชนิด ได้แก่ หญ้าคาทะเล หญ้าใบมะกรูด หญ้าชะเงาใบมน และหญ้าชะเงาใบเลื่อย พื้นที่แนวหญ้าทะเลประมาณ 10 ไร่ เป็นแนวหญ้าทะเลที่ต่อมาจากแนวหญ้าทะเลบ้านป่าคลอก มีความสมบูรณ์ดีปานกลางตามธรรมชาติ
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 ทางศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 4 (จังหวัดภูเก็ต) สถานีวิทยุและโทรทัศน์ช่อง 11 ภูเก็ต ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กลุ่มเยาวชนโรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ ตัวแทนชาวบ้านบ้านป่าคลอก และมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ร่วมพบปะพูดคุยฟังความคิดเห็นพร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจในพื้นที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือยามู
จากการลงพื้นที่พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจจากแหล่งข่าว ชาวบ้านบ้านยามู ทราบว่า ทางบริษัทที่รับผิดชอบได้นำรถแม็คโคร และกลุ่มคนงานจำนวนหนึ่ง เข้าถอนหญ้าทะเล และทำลายปะการังที่มีอยู่ในพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างท่าเทียบเรือไปแล้วบางส่วน แต่ไม่มีนำหลักฐานที่แน่ชัดเพื่อเอาความผิดว่าได้มีการดำเนินการทำลายหญ้าทะเลและปะการังดังกล่าว หลักฐานที่ได้นำมาจากบริเวณชายหาดบ้านยามู คือเศษหญ้าทะเลจำนวนหนึ่ง ที่มีลักษณะถูกถอนขึ้น เพราะมีราก และลำต้นของหญ้าทะเลติดขึ้นมาด้วย เป็นลักษณะของการดึงถอนโดยฝีมือคนมากกว่าที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะโดยทั่วไปหญ้าทะเลที่ถูกกระแสน้ำพัดพาจะมีสภาพใบขาดเท่านั้น กระแสคลื่นลมถึงขนาดความแรงอย่างคลื่นสึนามิ ก็ไม่สามารถดึงหญ้าทะเลพัดพาแบบถอนรากถอนโคนได้ (ตามภาพ)
นอกจากนี้ผืนทรายในอ่าวป่าคลอกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง หลังจากโครงการก่อสร้างได้นำทรายเข้ามาถมบริเวณชายหาดหน้าพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อทำหาดเทียม เมื่อกระแสน้ำพัดพาเอาตะกอนฝุ่นทรายมาที่บริเวณหน้าหาดป่าคลอก จึงทำให้หน้าทะเลแข็ง ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเติบโตของหญ้าทะเล และปะการังบางส่วนเริ่มตาย ซึ่งเขตชายฝั่งทะเลเป็นบริเวณที่ถูกกระทบกระเทือนได้ง่าย มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติได้ง่าย
ปรากฎการณ์ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งกระทบทั้งต่อวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ดั้งนั้นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรต้องไม่มากเกินไป และรวดเร็วเกินไป จนถึงระดับที่ไม่อาจฟื้นฟูได้ทันเวลา เพราะคนที่จะเดือดร้อนก็คงไม่พ้นลูกหลาน คนรุ่นหลังของเรา
แหลมยามู หมู่ 7 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พื้นที่โดยรอบสร้างสะพานท่าเทียบเรือ
ผืนหญ้าทะเลที่สมบูรณ์
หลักไม้ที่ปักไว้แสดงพื้นที่การก่อสร้างท่าเทียบเรือ
แนวปะการังในบริเวณสร้างท่าเทียบเรือยามู
แปลงหญ้าทะเลหลังน้ำลด แปลงหญ้าทะเลหลังน้ำลด
การสำรวจแปลงหญ้าทะเล
บริเวณหน้าหาดยามูหลังน้ำลด
การก่อสร้าง บ้านจัดสรร รีสอร์ท ในหมู่บ้านยามู หมู่ 7 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
การร่วมสำรวจพื้นที่บริเวณหน้าชายหาดบ้านยามู
หญ้าทะเลที่คาดว่าจะเกิดจากการลักลอบถอนทำลาย สังเกตุจากรากและตอของหญ้าทะเล
|