homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

     
 
 

ความเป็นมา

ในปีพ.ศ.2533  ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต  อันเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ตระหนักถึง ความสำคัญและปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและ สภาพความเป็นอยู่ของประชากรในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง  จึงได้จัดทำโครงการรณรงค์เผยแพร่ความสำคัญและ ปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติตามสถานศึกษาและตามที่สาธารณะต่างๆ  ในเขตจังหวัดภูเก็ต  พังงา  กระบี่  ซึ่งได้ผ่านประสบการณ์จากกิจกรรมมาแล้ว  และได้สรุปบทเรียนหาแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยมองที่รากฐานการแก้ไขปัญหาจากท้องถิ่น  ต่อมาพัฒนามาเป็น  องค์กรชุมชน  องค์กรท้องถิ่น  ในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง  จึงได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต  เพื่อการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น  แต่จากการดำเนินโครงการพบว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรต้องพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ  จึงได้ปรับปรุงโครงการ  เนื้อหาที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ  สังคม  ทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น  จากการสำรวจทรัพยากรชายฝั่งทะเลและชุมชนชายฝั่งอันดามัน  โดยร่วมกับกลุ่มพิงกันพัฒนา  จังหวัดพังงา  สมาคมหยาดฝน  จังหวัดตรัง  มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  และมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ในปีพ.ศ. 2536  -  2538  ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง  จังหวัดพังงา  และโครงการพัฒนาองค์กรชุมชนชายฝั่งทะเล  จังหวัดภูเก็ต โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเอเชีย  และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา   มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  ตามลำดับ  ซึ่งได้เน้นชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดภูเก็ต  พังงา  เป็นเป้าหมายหลัก  สำหรับจังหวัดกระบี่  เน้นการรณรงค์เผยแพร่การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน

ช่วงเดือนสิงหาคม  2538  -  กันยายน  2539  เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครภาคสนามในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต  พังงา  กระบี่  จากกลุ่มพิงกันพัฒนา  จังหวัดพังงาและชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภูเก็ต  มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  ได้ร่วมสรุปวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน  สถานการณ์ทรัพยากรชายฝั่ง  และชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในเขตพื้นที่เป้าหมายโดยรวม  ว่าในทางภูมิศาสตร์หมู่บ้านเป้าหมายทั้งหมดอยู่ในอ่าวพังงา  ลักษณะวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านเป็นระบบเครือญาติ  เชื่อมโยงกัน  มีพื้นที่การทำการประมงอยู่ในอ่าวเดียวกัน  จึงได้จัดทำข้อตกลงและยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกัน  ภายใต้แผนแม่บทโครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (  ARR )   อีกทั้งการวางแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกขยายผลการทำงานไปยังหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้านในเขตตอนเหนือของจังหวัดพังงา และตอนใต้ของจังหวัดระนอง  (  แถบชายฝั่งทะเลกิ่งอำเภอสุขสำราญ  อำเภอกะเปอร์  อำเภอเมือง  จังหวัดระนอง  ) 

ทั้งนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์ร่วมกันของเจ้าหน้าที่ภาคสนาม  4  องค์กร  คือ  กลุ่มพิงกันพัฒนา  ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต  มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมและมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์   โดยจัดโครงสร้างการทำงานใหม่  เป็นงานสำนักงานและงานภาคสนาม  โดยมีคณะกรรมการบริหารโครงการ  (  บุคคลในท้องถิ่น  )  และคณะกรรมการอำนวยการ  กำกับ  ดูแลและให้คำปรึกษา  เพื่อสะดวกและสอดคล้องในการปฏิบัติงานขององค์กร  หน่วยงานสนับสนุนจาก  CAA  องค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศออสเตรเลีย  TACAP  โครงการสนับสนุนงานพัฒนาในประเทศไทยของสถานฑูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย  อีกทั้ง  WWF  สนับสนุนโครงการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและชายฝั่งทะเลประเทศไทย  ผ่านทางมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแหงประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  DENCED  โครงการความร่วมมือจากประเทศแคนาดา  สนับสนุนโครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้  ผ่านทางคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน  (  กป.อพช.  )  ต่อมาได้พัฒนาจัดตั้งเป็นองค์กรมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  (  SDF  )  ซึ่งแนวทางในช่วงระยะดังกล่าวนี้มุ่งเน้นเสริมศักยภาพให้เกิด ขบวนการของชาวประมงพื้นบ้านทั่วภาคใต้ในนามสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เกิดการพัฒนาองค์กรชาวประมงพื้นบ้านในแต่ละพื้นที่  สำหรับในส่วนของโครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (  ARR )  นั้นรับผิดชอบในพื้นที่  5  จังหวัดอันดามัน  อันได้แก่  จังหวัดภูเก็ต  พังงา  กระบี่  ระนองและสตูล

ในเดือนตุลาคม  2539 – กันยายน  2545 ภายใต้ชื่อองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน  ( ARR )  ยังคงดำเนินการตามโครงการพัฒนาองค์กรชาวประมงพื้นบ้านอันดามัน เพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืนขึ้น  โดยความร่วมมือและสนับสนุนจาก NOVIB  องค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศเนเธอร์แลนด์  มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  และหน่วยงานภาครัฐ  เช่น  สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเลจ.ภูเก็ต  สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา  เป็นต้น  โดยมีเป้าประสงค์ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาของ ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านและปัญหาการจัดการทรัพยากรชายฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ชาวประมงพื้นบ้านในนามสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านอันดามันและ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ได้ร่วมกันพัฒนาและรณรงค์นโยบายการแก้ไขปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวพังงา  (  ภูเก็ต  พังงา  กระบี่  )  โดยการขยายเขตหวงห้ามใช้เครื่องมือประมงอวนรุน  อวนลากประกอบกับเครื่องยนต์ทำการประมงในเขตอ่าวพังงา  อีกทั้งการรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมต่อสาธารณชน  ในด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร  ปัญหา  แนวทางแก้ไข  ชุมชนประมงพื้นบ้านในรูปแบบต่างๆทางสื่อสารมวลชน  เช่น  หนังสืองานวิจัยเรื่อง  “  หัวโทง  ”    พัฒนาการชาวประมงพื้นบ้านอันดามัน  วารสารคนกู้ทะเล  วารสารสมัชชาอันดามัน  วารสารสมาพันธ์ ฯ  รายการวิทยุลมหายใจแห่งท้องทุ่ง 

ตุลาคม  2545 – ปัจจุบัน  ( กันยายน  2550  )   เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครภาคสนามยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา  ในนามมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  หลังจากโครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน  (  ARR  )  ได้ยุติบทบาทการดำเนินงานชั่วคราว  เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครบางส่วนได้ดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่  ในรูปแบบองค์กรท้องถิ่น  เช่น  โครงการฯอันดามันจังหวัดสตูล  โครงการความมั่นคงทางอาหารอ่าวพังงา  เป็นต้น  ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้พอจะสรุปเบื้องต้นได้เป็น  2  ช่วง  คือ

ช่วงที่  1  ก่อนเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ  (  26  ธันวาคม  2547  )  ปี  ตุลาคม  2545 – มีนาคม  2548  จัดทำโครงการพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภูเก็ต – พังงา  ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน  (  กป.อพช.  )  มูลนิธิกองทุนไทย  (  DSC  )   มุ่งเน้นการสร้างรูปธรรมของกระบวนการชุมชนในระดับพื้นที่  เช่น การจัดการทรัพยากรชายฝั่งและเศรษฐกิจโดยชุมชน  การสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน  การติดตามและพัฒนา นโยบาย  เช่น  การจัดทำโครงการจัดการป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดามัน ภูเก็ต  -  พังงา  เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานการจัดการป่า  (  SGP PTF  )  EU – UNDP  ดำเนินการโดยคณะดำเนินงานการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภูเก็ต – พังงา  สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้  และมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  อีกทั้งได้มีการจัดทำโครงการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ   เอกชน  องค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชนชายฝั่งในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอ่าวพังงา  ได้รับการสนับสนุนจากโครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง  (  CHARM  ) 

ช่วงที่  2  หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่  26  ธันวาคม  2547  มีการสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์สึนามิอย่างเร่งด่วนในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต  พังงา  และอีกทั้งกิจกรรมกองทุนหมุนเวียนเครื่องมือประมง ในหมู่บ้านของจังหวัดกระบี่  ระนอง  ตรังและสตูล  ตามโครงการฟื้นฟูเร่งด่วนผู้ประสบภัยตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี  จังหวัดพังงา  โครงการช่วยเหลือเร่งด่วนผู้ประสบภัยสึนามิภูเก็ต  -  พังงา  สนับสนุนโดยโครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง  (  CHARM  )  โครงการฟื้นฟูชุมชนและระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเล  พื้นที่ประสบภัยจังหวัดภูเก็ต  -  พังงา   สนับสนุนโดย  UNDP  โครงการความช่วยเหลือเร่งด่วนชาวประมงผู้ประสบภัยสึนามิจังหวัดพังงา  สนับสนุนโดยสถานทูตญี่ปุ่น  ประจำประเทศไทย    โครงการความช่วยเหลือเร่งด่วนเครื่องยนต์ และอุปกรณ์การประมงแก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัย  6  จังหวัดอันดามัน  ( ระนอง  พังงา  ภูเก็ต  กระบี่  ตรังและสตูล )  สนับสนุนโดย   FAO/UNDP-THA/05/002/01/12   โครงการศึกษาและเตรียมความพร้อมชุมชน  ได้รับการสนับสนุนจากโครงการบ้านที่อยู่อาศัยผู้ประสบภัยปากจก  โดย  SECOURS  POPULAIRE  FRANCAIS  (  S.P.F.)   โครงการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชไร้ดินจังหวัดพังงา  ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ  สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก  ประเทศไทย  โครงการปฏิบัติการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับชุมชนในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ต.พรุใน และ ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา  โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย ประจำประเทศไทย   โครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเล      จ.ภูเก็ต – พังงา  โดยการสนับสนุนจากสถานทูตอเมริกา  ประจำประเทศไทย 

จากการดำเนินงานช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหลายชุมชน  ได้เกิดการขยายกลุ่มกิจกรรมภายในชุมชน  มีรูปธรรมในการมีส่วนร่วมและจัดการทรัพยากรชายฝั่งของชุมชน  ชัดเจนขึ้น  เช่น  การจัดการป่าชายเลนชุมชน  แหล่งหญ้าทะเล  แหล่งปะการัง ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรชายฝั่งที่สำคัญที่ชุมชนเข้าไปมีบทบาทในการฟื้นฟู  ดูแล  เฝ้าระวัง  และทางด้านเศรษฐกิจชุมชนหลายชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากกองทุนช่วยเหลือสึนามิเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการจัดการของชุมชน  การบริหารระบบหนี้สินของสมาชิกภายในชุมชน  เป็นต้น  ทางด้านชุมชนพื้นที่ประสบภัยสึนามิหลายชุมชนได้ถูกนำมาเกาะเกี่ยวกับเครือข่ายองค์กรชุมชนชายฝั่ง  ทำให้เห็นได้ว่าเกิดการขยายพื้นที่ของเครือข่ายออกไปอย่างชัดเจน  นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งที่เกิดจากโครงการพัฒนาทั้งภาครัฐและ เอกชนสามารถที่จะเป็นประสบการณ์และบทเรียนที่สำคัญของชุมชนในอนาคต  หากสถานการณ์เหล่านี้ไม่เกิดขึ้น การพัฒนาที่ยั่งยืนก็จะสามารถดำเนินการไปได้ดี  ดังนั้นในช่วงรอยต่อในระยะต่อไป  การเรียนรู้และเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพื่อเท่าทันกับ สถานการณ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นกับชุมชนและที่สำคัญสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือภาวะโลกร้อน  ที่ชุมชนจะต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อการจัดการอย่างมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน  อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประทศก็ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชน

ถึงแม้ว่าเมื่อวันที่  27  กรกฎาคม  2550  คณะกรรมการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  ได้ประกาศยุติการดำเนินงานของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  และทำการเลิกจ้างพนักงานและอาสาสมัครทุกคนโดยให้เหตุผลว่าเงินทุนในการบริหารองค์กรหมดลง  เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครภาคสนามในพื้นที่ภูเก็ต  พังงา  ยังคงรวมตัวและมีเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ในการสานงานให้บรรลุสิ่งที่คาดหวังและตั้งใจต่อไป  ฉะนั้นองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน       (  ARR )  ยังคงมีภารกิจที่จะต้องเดินหน้าต่อไปตามความมุ่งหวังที่จะเห็น  “ ท้องทะเลมีปลา  ท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ  ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน  ”

องค์กรสนับสนุนงบประมาณ

  • WWF     (  ปีพ.ศ.2532 – 2545 )                                                       
  • สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (  LDI  ) ( ปีพ.ศ.2537 – 2539 )  
  • สถานทูตออสเตรเลีย  ( ปีพ.ศ.2538 -  2539 )
  • มูลนิธิกองทุนไทย  (  DSC  ) (  ปีพ.ศ.2546 – 2547 )
  • Novib  -  oxfaml  ( ปีพ.ศ.2539 – 2544 )                                       
  • มูลนิธิเอเซีย  (  ปีพ.ศ.2537 – 2538และ  2549 - 2550 )              
  • UNDP (  ปีพ.ศ.2547 – 2549 )
  • สถานทูตญี่ปุ่น  ( ปีพ.ศ.2548 – 2549 )
  • SPF  (  พ.ค. – ส.ค. พ.ศ.2549 )                                                        
  • สถานทูตสหรัฐอเมริกา  (  ปีพ.ศ.2549 – 2550 )
  • มูลนิธิรักษ์ไทย     ( ปีพ.ศ.2548 – 2549 )                                        
  • FAO  ( ปีพ.ศ.2549 – 2550 )
  • โครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง  (  CHARM  ) (  ปีพ.ศ.2547 – 2550 )
  • ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่  4  ( จ.ภูเก็ต )
  • ธนาคารไทยพาณิชย์
  • มูลนิธิซีเมนต์ไทย
  • อ๊อกแฟมล์  (  UK  )
 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: