บ้านส้าน...ตลาดสดของชุมชน (จบ)
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16 – 30 มิถุนายน 2554
ทรัพยากรที่สำคัญไม่แพ้แหล่งหญ้าทะเลก็คือ “ป่าชายเลน” ภูเก็ตมีป่าชายเลนไม่มากนัก เพราะทางฝั่งตะวันตกของภูเก็ตเป็นหาดทราย ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น หาดกะตะ หาดป่าตอง หาดกระรน หาดสุรินทร์ ฯลฯ จึงพบป่าชายเลนส่วนใหญ่ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของเกาะ และมีการกระจายตัวค่อนข้างมาก สามารถแบ่งออกตามพื้นที่ได้ทั้งหมด 8 ป่า คือ 1.ป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนคลองอู่ตะเภา 2.ป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนคลองท่ามะพร้าว 3.ป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนคลองพารา 4.ป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนคลองบางโรง 5.ป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนคลองท่าเรือ 6.ป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนคลองมุดง 7.ป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนคลองบางชีเหล้า – คลองท่าจีน และป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนคลองเกาะผี
ป่าชายเลนทำหน้าที่เสมือนเขื่อนป้องกันคลื่นลมจากทะเล ช่วยกันความรุนแรงของพายุ ตลอดจนสกัดกั้นไม่ให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัย วางไข่ หาอาหาร และเป็นแหล่งอนุบาล แหล่งเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ปูทะเล (ปูดำ) กุ้ง ปลากระบอก ฯลฯ และเป็นแหล่งยังชีพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล เช่น ตัดไม้สำหรับใช้ทำเครื่องมือประมง เปลือกไม้บางชนิดใช้ย้อมผ้า ย้อมแหและอวนให้คงทน ผลใช้รับประทาน ใบจากใช้มวนยาสูบและมุงหลังคา พืชบางชนิดเป็นยารักษาโรค เช่น เหงือกปลาหมอ ตาตุ่ม นอกจากนั้นยังมีการประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง โดยการจับสัตว์น้ำในป่าชายเลนอีกด้วย
จากการรวบรวมข้อมูลป่าชายเลนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าในปีพ.ศ. 2504 ภูเก็ตมีพื้นที่ป่าชายเลน 28,125 ไร่ ต่อมาปี พ.ศ.2534 พบว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนลดลงเหลือเพียง 9,712 ไร่ และป่าชายเลนลดลงอีกเหลือเพียง 9,448 ไร่ ในปี 2539 และเมื่อสำรวจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2543 พบว่าป่าชายเลนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 11,989 ไร่ แต่ก็น่าเศร้าใจว่าป่าชายเลนได้ลดลงอีกเหลือ 11,724 ไร่ และ 10,504 ไร่ ในปี 2545 และ 2547 ตามลำดับ
สาเหตุหลักที่ทำให้ป่าชายเลนลดลง คือในอดีตมีการให้การสัมปทานทำเหมืองแร่ สัมปทานตัดไม้เผาถ่าน ในเวลาต่อมารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเพาะเลี้ยงชายฝั่งเพื่อเป็นอุตสาหกรรมส่งออกสัตว์น้ำ ส่งผลให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนสำหรับเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้เพื่อกิจกรรมอื่นๆ และในปัจจุบันการบุกรุกป่าชายเลนเพื่อสร้างที่พักอาศัยและออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบเพื่อสนองตอบ การพัฒนาอุตสาหกรรมไร้ปล่องควันหรือการท่องเที่ยวให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก
จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของป่าชายเลนในช่วงระหว่างปี 2539 – 2545 เป็นเพราะผลจากการเริ่มรวมกลุ่มขององค์กรชุมชนท้องถิ่น เพื่อดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ ฟื้นฟูและจัดการป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งบ้านป่าคลอก เครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลองภูเก็ต เป็นต้น
จะเห็นได้ว่านโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงชายฝั่งเพื่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำหรือนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จนทำให้เกิดการบุกรุกป่าชายเลนนำไปสู่การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนในภูเก็ตลดลงอย่างน่าใจหาย และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอีกเรื่อยๆ
วิถีชีวิตชาวเกาะอย่างคนภูเก็ตที่ประกอบไปด้วยไทยพุทธ จีน มุสลิม ชาวเล ซึ่งเป็นความหลากหลายทางเชื้อชาติแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและลงตัว อีกทั้งยังมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าบก ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล ตลอดจนแนวปะการังจนกลายเป็นความผูกพันอย่างแยกจากกันมิได้ คนต่างถิ่น ต่างพื้นที่ ต่างวิถีมักไม่เข้าใจเรื่องความผูกพันและการพึ่งพาอาศัยกับความหลายหลากของทรัพยากรดังกล่าว
หากยอมรับและเปิดใจที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นก็จะพบว่า เกือบทั้งชีวิตของคนที่นี่อยู่ที่ “บ้านส้าน...ตลาดสดของชุมชน”
สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |