homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ส่งต่อของขวัญ

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-30 พฤษภาคม 2554

            “ศาสนาทุกศาสนาสอนให้เราทุกคนรู้จักการให้และคนที่ให้ก็จะได้บุญเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่” เป็นคำพูดของสัน  ทันยุภักดิ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านกลาง หมู่ที่ 6 ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงาที่ได้สนทนากันก่อนถึงวันงานส่งต่อของขวัญ

            วันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมงาน “ส่งต่อของขวัญ” ของโครงการพัฒนาชุมชนชายฝั่งพังงา – ภูเก็ตเพื่อการพึ่งตนเอง จัดงานที่หัวถนนบ้านกลางหรือสะพานบางพัฒน์ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา งานนี้ได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายสุรินทร์ เพชรสังข์ เป็นประธานเปิดงานและมีผู้ร่วมงานเดินทางมาจากต่างประเทศถึง 8 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย อินเดีย กัมพูชา เวียตนาม ฟิลิปปินส์ เนปาล สหรัฐอเมริกา และ จีน จำนวน 35 คนรวมทั้งชุมชนใกล้เคียงอีกมากมายที่มาร่วมแสดงความยินดีกับการส่งต่อของขวัญของกลุ่มพึ่งตนเองในครั้งนี้

            “การส่งต่อหรือการส่งต่อของขวัญ” (Passing on the Gifts) พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการมอบปัจจัยที่ได้รับมาให้กับกลุ่มอื่นเพื่อจะได้มีโอกาสเหมือนกับตนเองได้รับโอกาสนั้นมาแล้ว

            โครงการพัฒนาชุมชนชายฝั่งพังงา – ภูเก็ตเพื่อการพึ่งตนเอง เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนระหว่างองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามันหรือ ARR และองค์กรไฮเฟอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อดำเนินกิจกรรมการฟื้นฟู จัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และส่งเสริมให้ชุมชนชายฝั่งได้พึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 สิ้นสุดโครงการ ปี 2556 รวมเวลา 5 ปี ปีแรกมีสมาชิกกลุ่มพึ่งตนเอง 7 กลุ่ม และส่งต่อของขวัญให้กับกลุ่มรับต่ออีก 7 กลุ่ม ทางกลุ่มรับต่อทั้งหมดต้องการปัจจัยเป็นหอยนางรม ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของกลุ่มรับต่อ เพราะหากรับปัจจัยเป็นเป็ดเทศหรือธุรกิจน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเหมือนกับกลุ่มเริ่มต้นจะทำให้แย่งลูกค้ากันเอง และหอยนางรมเป็นที่ต้องการของตลาดมาก

            บรรยากาศของงานส่งต่อของขวัญเต็มไปด้วยความคึกคักสนุกสนาน สมาชิกกลุ่มพึ่งตนเองทั้ง 7 กลุ่มร่วมใจกันทำอาหารมาสมทบ เช่น ขนมจีนน้ำยาจากบ้านกลางและแกงปูดำ จากชุมชนท่าไร่  ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา  หอยลายผัดน้ำพริกเผาจากบ้านท่าสนุก ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา หรือ ยำปลาฉิ้งฉ้างจากชุมชนแหลมหลา ต.ไม้ขาว องเมือง จ.ภูเก็ต เป็นต้น อาหารส่วนใหญ่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก น่าเสียดายช่วงจัดงานมรสุมเข้าพอดี ไม่อย่างนั้นจะมีอาหารอร่อยๆ สดๆ จากทะเลเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีกหลายอย่าง

            เสร็จงานแล้วเดินทางกลับบ้านด้วยความรู้สึก “อิ่ม” อย่างน้อยๆ ก็รู้ว่าของขวัญที่กลุ่มรับต่อได้รับไปนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการจริง มิใช่สิ่งของปัจจัยที่ถูกยัดเยียดให้รับเหมือนกับที่เคยเป็นมา...

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: