คืนอำนาจประชาชน ภูเก็ต(ต้อง)จัดการตนเอง (1)
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1- 15 สิงหาคม 2555
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ของทุกปีเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองประวัติศาสตร์ไทย โดยเปลี่ยนรูปแบบประเทศจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ไปเป็นการปกครองไปเป็น “ระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา”
แม้ว่า 24 มิถุนายนจะผ่านไปแล้ว แต่จะเป็นวันแห่งการจุดประกายความคิดและนำไปสู่เปลี่ยนแปลง จ.ภูเก็ตภายใต้แนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง”
ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่สวยงาม ผู้คนต่างหลงใหลใฝ่ฝันอยากมานอนอาบแดดแรงๆ อยากมาดำน้ำดูปะการังเสื่อมโทรมที่ภูเก็ต อยากเดินโฉบเฉี่ยวแถวซอยบางลา ป่าตอง อีกทั้งยังสร้างรายได้ทางด้านการท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆ ของประเทศ เหตุใด? “ภูเก็ตต้องจัดการตนเอง”
จากการจัดอันดับความรู้สึกของประชาชนต่อจังหวัด “อยู่แล้วเป็นสุข” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้พักอาศัยอยู่ใน 77 จังหวัดของประเทศช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2554 พบว่า จ.สุพรรณบุรีได้อันดับ 1 โดยมีคะแนนความรู้สึก “อยู่แล้วเป็นสุข” เฉลี่ยอยู่ที่ 7.83 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ขณะที่ จ.ภูเก็ต อยู่อันดับสุดท้ายได้ 5.64 คะแนน (ข้อมูลของเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จากหนังสือพิมพ์มติชน วันพุธที่ 30 มีนาคม 2554)
ภูเก็ตทำรายได้ให้ประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท แต่รัฐจัดสรรงบประมาณให้ภูเก็ตปีละไม่กี่พันล้านบาท
ภูเก็ตรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นทุกปีๆ ละกว่าหกล้านคน นักท่องเที่ยว 1 คนทำรายได้ 20,000 บาท ในขณะที่ กรุงเทพทำรายได้ 16,000 บาท เชียงใหม่ 7,900 บาท ชลบุรี 7,038 บาท
ภูเก็ตใช้ไฟฟ้าปีละ 350 เมกกะวัตต์ มากกว่ากระบี่ ตรัง พังงา สตูล ทั้ง 4 จังหวัดรวมกัน นั่นหมายถึง ภูเก็ตใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง หรือเขียนให้เข้าใจง่ายคือ ล้างผลาญงั้นหรือ?
ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการบุกรุก ทำลายและเปลี่ยนสภาพพื้นที่ภูเขา ป่าชายเลน และพื้นที่ชายฝั่ง ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมอย่างมาก ก่อให้เกิดดินถล่มจากภูเขา น้ำท่วมภูเก็ต
ปัญหาการจราจรภูเก็ตที่ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ นัก ภูเก็ตมีรถยนต์ 29,000 คันคิดเป็นอัตราส่วน 262 คันต่อจำนวนประชากร 1,000 คน มีจักรยานยนต์ 270,000 คัน ไม่รวมที่จดทะเบียนต่างจังหวัดที่มาใช้ในภูเก็ต เกิดอุบัติเหตุทุกวัน เสียชีวิต 2-3 ศพ
ภูเก็ตต้องจัดการขยะวันละกว่า 600 ตัน แต่ในความเป็นจริงกำจัดได้เพียง 250 ตัน/วัน เพราะจัดการไม่ดี
ประชาชนชาวภูเก็ตต้องแบกรับค่าครองชีพสูงสุดโหดในราคาที่ไม่ต่างจากนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นค่ารถให้บริการตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปถึงรถยนต์รับจ้าง ราคาอาหารที่แพงกว่ากรุงเทพ
นี่ไงล่ะ! ความจริงของภูเก็ตวันนี้ ...ภูเก็ตเมืองที่ทุกคนหลงใหล
เห็นไหมว่าบางสิ่งบางอย่างที่ควรจะเป็นของ “ภูเก็ต” กลับไหลไปสู่ส่วนกลาง... ไหลไป “รวมศูนย์อำนาจ”
เห็นไหมว่า “การรวมศูนย์อำนาจ” เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางมากขึ้น การพัฒนาที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม เกิดความขัดแย้งของประชาชน เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันมากขึ้น เกิดการแย่งชิงทรัพยากรดินน้ำป่าจากภาคเกษตรไปให้กับภาคอุตสาหกรรม ประชาชนในชนบทถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ เกิดการทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
เห็นไหมว่าปัญหาสารพัดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ “ท้องถิ่น” ไม่สามารถกำหนดทิศทางการบริหารจัดการที่สอดคล้องเหมาะสมกับตนเองได้
อ่านต่อฉบับหน้า
สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |