ป่าชุมชน (1)
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1- 15 เมษายน 2555
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน มาตรา 66 และ มาตรา 67 ที่ว่าด้วยเรื่องชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
และเป็นระยะเวลา 20 ปี แล้วที่ชุมชนชายฝั่งภูเก็ต พังงา แต่ละชุมชนได้ร่วมกันปกป้อง ดูและและจัดการทรัพยากรชายฝั่งของตนเอง ทั้งทะเลซึ่งเปรียบเสมือนหม้อข้าวหม้อแกง ป่าชายเลนแหล่งที่พักอาศัยของสัตว์น้ำ ตลอดจนป่าต้นน้ำของชุมชน
ชุมชนรู้จัก “สิทธิชุมชน” มาก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เสียอีก ซึ่งดูจากกิจกรรมหรือวีรกรรมที่ชุมชนได้ทำในครั้งอดีต เช่น ที่บ้านย่าหมี องเกาะยาว จ.พังงาได้รวมตัวกันไปยึดพื้นที่สัมปทานตัดไม้เผาถ่านแล้วมาจัดการดูแลโดยสมาชิกในชุมชนตั้งแต่ก่อนปี 2530 รวมพื้นที่ 2,801 ไร่ หรือที่บ้านกลาง อ.เมือง จ.พังงาเมื่อก่อนเป็นพื้นที่สัมปทานแร่ดีบุกทั้งดูดและขุดแร่ หนำซ้ำมีสัมปทานตัดไม้เผาถ่านอีก ผืนป่าชายเลนที่สมบูรณ์เป็นแหล่งที่พักอาศัยและอนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งจะกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจในวันข้างหน้า มีมูลค่าแค่เพียงถ่านชั้นดีที่ส่งขายปีนัง แม้พื้นที่ยังไม่หมดอายุสัมปทานบัตร และทนเห็นสภาพความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนและชายฝั่งไม่ได้จึงรวมตัวกันกับหมู่บ้านบางพัฒน์ ซึ่งในอดีตเป็นหมู่บ้านเดียวกันและเป็นมีความเป็นน้องกันต่างช่วยกันปลูกป่าชายเลนทุกๆ ปี พลิกผืนดินที่เคยมีแต่ดินเลนโล่งกลายเป็นผืนดินที่หนาแน่นไปด้วยต้นโกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ แสม ตะบูน และอื่นๆ
ทั้ง 2 หมู่บ้านเคยได้รับรางวัลในระดับประเทศมาแล้ว
ปลายปี 2545 บ้านย่าหมีได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน รางวัลชมเชย ที่สร้างสรรค์อนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรป่าและได้รับรางวัลเดิมอีกครั้งปลายปี 2552 เป็นรางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต 5 ปี ซึ่งมอบให้กับชุมชนที่ดูแลป่าติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี
และล่าสุดบ้านกลางได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2554
ชุมชนชายฝั่งทำอะไรต่อไปอีกบ้างโปรดติดตามฉบับหน้า
สุจารี ไชยบุญ องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |