homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ป่าชุมชน (จบ)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16- 30 เมษายน 2555

            บ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว 2 ครั้งๆ แรกเมื่อปี 2545 ประเภทชุมชน รางวัลชมเชย ที่สร้างสรรค์อนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรป่าและ ครั้งที่ 2 ปลายปี 2552  เป็นรางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต 5 ปี ซึ่งมอบให้กับชุมชนที่ดูแลป่าติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 2,800 ไร่

            และล่าสุดบ้านกลางได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ในโครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2554 ซึ่งมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 3,100 ไร่ หากรวมทั้ง 2 หมู่บ้านจะมีพื้นที่ป่าชายเลนเกือบ 6,000 ไร่

            ในพื้นที่ ต.บางเตยที่ได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นป่าชายเลนชุมชนที่ถูกกฎหมาย ตามระเบียบของกรมป่าไม้นั้นมี 4 หมู่บ้าน คือ บ้านเกาะเคี่ยม-ท่าไร่ ประมาณ 1,000 ไร่ บ้านกลาง 3,100 ไร่  บ้านบางพัฒน์ ประมาณ 2,700 ไร่  และบ้านเกาะเคี่ยมใต้ ประมาณ 1,100 ไร่ รวมทั้งหมดเกือบ8,000 ไร่ นั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของตำบลบางเตย หาสำรวจอย่างละเอียดและผลักดันให้มีการจดทะเบียนเป็นป่าชุมชนทุกพื้นที่คาดว่าน่าจะมีพื้นที่ป่าชายเลนไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่

            23 จังหวัดของประเทศไทยที่มีป่าชายเลน แต่จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดที่มีป่าชายเลนมากที่สุดในประเทศ จากการสำรวจเมื่อปี 2547 มีป่าชายเลน 271,628 ไร่ (ข้อมูลจากสำนักความหลากหลายทางชีวภาพ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม) และจังหวัดทางฝั่งอันดามันอีก 4 จังหวัด (ยกเว้นจังหวัดภูเก็ต) ก็คือ ระนอง กระบี่ ตรังและสตูลมีพื้นที่ป่าชายเลนเป็นแสนๆ ไร่ ส่วนจังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่ป่าชายเลนเพียงแค่ 10,000 กว่าไร่เท่านั้นและแนวโน้มพื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ตจะลดลงเนื่องจากมีการบุกรุกนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและที่พักอาศัย

            จากการคุยกับแกนนำในชุมชนไม่ว่าจะเป็นบ้านกลางหรือบ้านย่าหมีถึงแรงจูงใจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลนและทำป่าชุมชนก็คือ...ชาวบ้านรู้ว่าป่าชายเลนในเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศชายฝั่ง และต้องใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนเป็นแหล่งที่สร้างรายได้ตลอดทั้งปี เช่น  ตกปูดำ  จับปูแสมส่งขายทำปูเค็ม  ดักกุ้งเคยทำกะปิ  นำไม้ใช้ประโยชน์ในครัวเรือนไม่ได้นำไปขายเชิงพาณิชย์  ที่สำคัญพวกเขาทนดูป่าชายเลนที่มีคุณค่าถูกทำลายไปต่อหน้าไม่ได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้ายึดพื้นที่เพื่อชุมชนจะฟื้นฟูแล้วทำเป็นป่าชุมชน มีกฎระเบียบโดยชุมชนและพื้นคนในชุมชน หากคนภายนอกจะเข้ามาใช้ประโยชน์ก็ได้แต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของป่าชุมชน

            หากในอดีตพื้นที่ป่าชายเลยไม่ถูกพรากความสมบูรณ์ไปด้วยนโยบายขุด-ดูดแร่ดีบุก  นโยบายสัมปทานเตาถ่าน  นโยบายเพาะเลี้ยงชายฝั่งเลี้ยงกุ้งกุลาดำ  ตลอดจนนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยว พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดพังงาอาจจะมีมากกว่านี้ และความมั่นคงทางด้านอาหารและอาชีพก็จะมีมากด้วยเช่นกัน

สุจารี  ไชยบุญ  องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: