homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ผู้หญิง กับ ปฏิบัติการล้มทุนนิยมข้ามชาติ 2

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16 - 31 กรกฎาคม 2555

 

กลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน (กระบี่ พังงา ภูเก็ต) สนองรับนโยบายชาติอย่างไม่มีเงื่อนไข ด้วยวิสัยทัศน์ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก และเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจสู่นานาชาติ” Andaman Paradise หรือมรกตเมืองใต้ ที่มีจุดขายหลักด้านการท่องเที่ยว คือ หาดทราย ชายทะเล หมู่เกาะ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

แม้จังหวัดพังงาไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของจังหวัดภูเก็ต แต่ถ้าพิจารณาในเชิงภูมิศาสตร์แล้วนอกจากภูเก็ต พังงา และกระบี่ ตั้งอยู่ทะเลฝั่งอันดามันเหมือนกันแล้ว ยังใช้ทรัพยากรชายฝั่งในอ่าวเดียวกันอีกด้วย นั่นคือ “อ่าวพังงา” นั่นแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจังหวัดใดมีนโยบายที่อาจจะส่งผลดีหรือร้ายต่อทรัพยากรในอ่าวพังงาย่อมได้รับผลกระทบกันทั่วหน้าทั้ง 3 จังหวัด 

นโยบาย 3 จังหวัด อยากจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ทางทะเล แหล่งดำน้ำระดับโลก และบริการสุขภาพ และแหล่งรักษาภาพลักษณ์ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งควรจะอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ปะการัง  ความสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเล อันมีค่ายิ่งนี้ไว้  แต่กลับทำลายทรัพยากรนั้นเสีย  แล้วส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการสร้างสิ่งปลูกสร้างแปลกปลอมเช่น ท่าเรือมีน่า ซึ่งสวนทางกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ 

“เป็นไปได้อย่างไรที่รัฐผู้มีความรู้ ความสามารถ จะอนุญาตให้มีโครงการฯ เขาไม่รู้เลยหรือว่าบริเวณอ่าวคลองสนมีทรัพยากรทางทะเลมากมาย ทั้งแหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง ป่าชายเลน  ป่าชายหาด พื้นตรงนี้เป็นของสาธารณะ ทุกคนมีสิทธิใช้ได้ เขาไม่รู้สักนิดเลยหรือ หรือรู้แต่แกล้งปิดหู ปิดตา”

นางกานดา โต๊ะไม หรือมักเรียกว่า จ๊ะดำ แกนนำกลุ่มสตรีบ้านย่าหมีกล่าวทั้งน้ำตาบนเวทีรณรงค์คัดค้านการสร้างท่าเรือมารีน่าที่อ่าวคลองสน

นางสุภารัตน์  มาตรศรี หรือ จ๊ะดำ หนึ่งในแกนนำที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติบ้านย่าหมี เล่าสมทบว่า “ถ้าต้นไม้บนป่าสงวนฯ ก็เป็นการทำลายป่าต้นน้ำ เพราะบ้านย่าหมีและหมู่บ้านใกล้เคียงอาศัยน้ำจากป่าต้นน้ำนี้”

ป่าสงวนฯ ที่นางสุดารัตน์พูดถึงคือป่าสงวนแห่งชาติ ป่าช่องหลาด ที่ครอบคลุมพื้นที่ 5 หมู่บ้าน 2 ตำบลในเกาะยาวใหญ่ ที่บริษัททุนข้ามชาติซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันกับที่มีโครงการจะสร้างท่าเทียบเรือมารีนา กำลังใช้รถแบ๊คโฮถางไถพื้นที่และชาวบ้านในพื้นที่บอกว่ารถแบ๊คโฮไถล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด

การออกหน้าปกป้องป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาดทำให้ถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องชาวบ้าน 17 คน ด้วยข้อหาว่า  ร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ  อันเป็นการรบกวนการครอบครอง  อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร ( ต้นงวงช้าง )

และ 4 ใน 17 คน เป็นผู้หญิง  
ผู้หญิง 1 ใน 4 คน ไม่ได้ร่วมการสำรวจป่าต้นน้ำอันเป็นที่มาของการฟ้องร้อง

นางสาวรุ่งนภา  ชายเลี้ยง หรือ จ๊ะสาว  เป็นหนึ่งในแกนนำการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติบ้านย่าหมี เล่าด้วยน้ำเสียงหัวเราะว่า “วันที่หลายๆ คนขึ้นไปสำรวจป่าต้นน้ำที่เห็นว่านายทุนบุกรุกป่า จ๊ะ (พี่) ไม่ได้ขึ้นไปด้วย ขายกาแฟที่บ้าน เห็นเขาขึ้นไปกันเป็น 20-30 คน ทำไมโดนฟ้องแค่สิบกว่าคน ไม่เข้าใจว่าคนที่ไม่ได้ขึ้นไปอย่างเราก็ยังโดนฟ้องด้วย ...ไม่มีความยุติธรรมเลยจริงๆ”

ไม่เพียงแต่ จ๊ะสาวที่ไม่เข้าใจ  ทุกคนที่บ้านย่าหมีก็ไม่มีใครเข้าใจกระบวนยุติธรรมในประเทศนี้?
หากนายทุนจะฟ้องอีกสักกี่คดี ผู้หญิงแห่งบ้านย่าหมีไม่มีวันกลัว
“ความกลัว” ในวันนี้เป็นอย่างไร พวกเธอไม่รู้จัก รู้แต่ว่าจะต้อง “สู้” ต่อไป

เพราะ...“ความกลัว” นั้นได้ตายไปแล้ว...ตายไปในวันที่พวกเธอนอนเฝ้าหาดคลองสน เพื่อมิให้นายทุนตัวใหญ่พรากเอาหาดคลองสน...สมบัติล้ำค่าของหมู่บ้านไป 

ผู้หญิงทุกคนรู้ดีว่านี่เป็นเพียงปฐมบทของการต่อสู้ และจากนี้ไปปฏิบัติการล้มทุนนิยมข้ามชาติของผู้หญิงแห่งบ้านย่าหมีได้เริ่มต้นขึ้นตามวิถีทางแห่งหญิงชาวบ้านย่าหมี...

สุจารี  ไชยบุญ  องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: