ผู้เฒ่าเฝ้าทะเล
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2555
การพระราชปริญญาบัตรในปีการศึกษา 2552 – 2553 มีรายชื่อของนักอนุรักษ์แห่งบ้านป่าคลอกเข้ารับปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ในครั้งนี้ด้วย
“จุรุณ ราชพล” หรือ “น้าต๋อย” คือนักอนุรักษ์แห่งบ้านป่าคลอกคนนั้น ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดา เรียนจบชั้นประถมแห่งบ้านป่าคลอก หลายคนที่บ้านป่าคลอกรู้จัก “น้าต๋อย” เป็นอย่างดี เพรา น้าต๋อยทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง
น้าต๋อยเล่าว่า “รู้สึกปลื้มใจอย่างมากที่ได้รับปริญญาครั้งนี้ ปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูก ญาติพี่น้องไปร่วมงานเป็นสิบคน”
จริงอยู่ที่ว่าหากใครเรียนในระดับอุดมศึกษาตามหลักสูตรที่กำหนดย่อมได้รับปริญญากันทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่ได้รับปริญญาจากการปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง
เป็นการกระทำจากใจที่ไม่ต้องมีหนังสือจากหน่วยงานใดสั่ง
ไม่ได้ทำเพราะต้องได้คะแนนและได้ A เมื่อสิ้นสุดการศึกษา
ไม่ได้ทำเพราะอยากได้หน้า หาเสียง สร้างคะแนนนิยม
แต่เป็นการกระทำที่มาจากสำนึกรักบ้านเกิดและสำนึกของคนพลเมืองภูเก็ตที่ต้องดูแลท้องถิ่น
กิจกรรมของผู้เฒ่าเฝ้าทะเลคนนี้เริ่มตั้งแต่ปลูกป่าชายเลน ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ หรือแม้เรื่องการต้อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทั้งระบบ เช่น การตรวจสอบข้อเท็จจริงและปกป้องป่าชายเลนไม่ให้กลุ่มทุนบุกรุกและออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบจนทำให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ของครอบครัวราชพล....
เดือนกุมภาพันธุ์ 2544 เป็นปีที่ครอบครัวราชพลไม่เคยลืม กระสุนปืนได้กระชากวิญญาณ “จุลินทร์ ราชพล” หรือ “น้าติ๋ม” ไปไม่มีวันกลับ จากเหตุการณ์การสูญเสียครั้งนั้น ได้จุดประกายแล้วรวมตัวกันปกป้องป่าชายเลนแห่งบ้านป่าคลอก
นอกจากการปกป้องป่าชายเลนอันเป็นผืนป่าแห่งชีวิตของบ้านป่าคลอกแล้ว น้าต๋อยยังร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งบ้านป่าคลอกคัดค้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีนาหรือท่าเทียบเรือสำราญ
น้าต๋อยบอกว่า “ที่คัดค้านการสร้างท่าเรือมารีนาที่บริเวณแหลมยามูเพราะว่า ตรงนั้นเป็นบริเวณที่มีหญ้าทะเลเป็นอาหารของพะยูน ซึ่งมีร่องรอยว่าพบพะยูนเข้าหากินบริเวณอ่าวป่าคลอกบ่อยๆ และถ้าหากสร้างท่าเรือมารีน่าชาวบ้านจะเข้าไปทำประมงไม่ได้ ท่าเรือเป็นของเอกชน ทุกวันนี้ชาวบ้านใช้เส้นทางนั้นผ่านไม่ได้ ถ้าหากมีการสร้างท่าเรือมารีนา ชาวบ้านคงทำประมงไม่ได้เลย”
ทุกๆ วันที่มองเห็นนักศึกษามหาวิทยาลัย พวกเขาทุกคนฝันถึงวันที่จะได้สวมชุดครุย เพราะตรากตรำจากการเรียนมาสาหัสอยากได้รับผลตอบแทนเร็วๆ แต่เมื่อเทียบกับประสบการณ์นอกห้องเรียนของน้าต๋อยแล้ว พวกเขาจะได้ไหมว่า...สิ่งที่พวกเขาคิดว่าแสนสาหัสนั้นมันเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่น้าต๋อยทำอยู่มาตลอด 20 ปี
ในทุกๆ วันอยากให้คนรุ่นใหม่ได้มีจิตวิญญาณแห่งการอนุรักษ์ดั่งเช่นผู้เฒ่าเฝ้าทะเลคนนี้มีมาตลอด 20 ปี และจะได้รู้ว่าลมหายใจที่มีคุณค่านั้นเป็นอย่างไร...
สุจารี ไชยบุญ องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |