homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

เปิดปม “ฮุบ”ที่ป่าสงวนบ้านย่าหมี จ.พังงา

ขุณิกากรณ์  ไชยบุญ องค์กรความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
ตีพิมพ์ใน มติชน 4 พค.51

ปฐมบทแห่งการต่อสู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

เป็นเวลากว่า 1 ทศวรรษ ที่ชุมชนบ้านย่าหมีมีแนวคิดและดำเนินกิจกรรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทรางวัลชุมชนดีเด่น

บ้านย่าหมีเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา  ดำเนินวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย ด้วยสภาพพื้นที่เป็นเกาะจึงประกอบอาชีพประมงชายฝั่งเป็นหลัก ทอดแห หาหอย ตกปลา วางอวน ล้วนเป็นภาพที่คุ้นตา เป็นวิถีชีวิตที่คุ้นชิน ชีวิตคนในชุมชนจึงผูกพันกับทะเลและป่าไม้ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

ต่อให้ชุมชนบ้านย่าหมีไม่มีรางวัลใดๆ เป็นเครื่องการันตี ชาวบ้านที่นี้ยืนยันว่าไม่ละทิ้งแนวคิด “คนกับธรรมชาติต้องอยู่ร่วมและดูแลกัน”

“เราต้องรักษาป่าและทะเลให้อยู่ต่อไปให้คนรุ่นลูก รุ่นหลานได้ใช้ด้วย”

นั้นเป็นเสียงของอดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านย่าหมี นายอิบร้อเหม ถิ่นเกาะยาว

จากการต่อสู้เพื่อการจัดการรักษาทรัพยากรชายฝั่ง ให้ปลอดจากเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายและทำลายทรัพยากร เช่น เรืออวนลาก เรืออวนรุน หรือ เรือปั่นไฟปลากะตัก จนทรัพยากรชายฝั่งอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลขนาดใหญ่แหล่งหนึ่งของประเทศ

นอกจากนี้บ้านย่าหมีจัดการระบบนิเวศแบบองค์รวม นั้นหมายถึง การนำพื้นที่ป่าชายเลนในหมู่บ้านมาเป็น “ป่าชุมชน” ซึ่งมีกฎระเบียบและคณะกรรมการป่าชุมชน รวมไปถึงชาวบ้านช่วยกันดูแลให้เป็นใช้สอยของหมู่บ้าน ไม่ให้ใช้ในเชิงพาณิชย์   จากปรากฏการณ์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติสะท้อนให้เห็นว่า แม้ชาวบ้านการศึกษาน้อย แต่วิสัยทัศน์ยาวไกล

แม้ว่านั้นเป็นเพียงการจัดการทรัพยากรทั้งระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งเกี่ยวสัมพันธ์กับวิถีอาชีพประมงพื้นบ้าน แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ละเลยทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด” เลยแม้แต่น้อย

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด ครอบคลุมพื้นที่ 5 ชุมชน  2 ตำบล คือ บ้านช่องหลาด บ้านคลองเหีย บ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ และบ้านโล๊ะโป๊ะ ต.พรุใน อ.เกาะยาว จ.พังงา และปฏิเสธไม่ได้ว่า มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปใช้ประโยชน์ป่าผืนนี้ และได้ประโยชน์จากการเป็น “ป่าต้นน้ำ”

“เขื่อน” อาจจะสำคัญและขาดไม่ได้สำหรับคนเมือง เพื่อกักเก็บน้ำยามฤดูฝนและเป็น “เขื่อนลม” เพื่อเก็บความว่างเปล่ายามฤดูแล้ง

สำหรับหมู่บ้านย่าหมีมีพื้นที่เป็นเกาะนั้น ชาวบ้านต้องการเพียง ”เขื่อนธรรมชาติ” เพื่อเก็บน้ำไว้กินและใช้ได้ตลอดทั้งปี นั้นก็คือ เป็น “ป่าต้นน้ำ”

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาดเป็นเพียงป่าผืนเล็กๆ เมื่อเทียบกับป่าสงวนแห่งชาติอื่น แต่ก็จัดว่าเป็นป่าผืนใหญ่บนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ 

 
หาดคลองสนเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ที่สุด แห่งหนึ่งใน ต.กะยาวใหญ่ จ.พังงา พื้นที่ป่าชายเลนชุมชน ต.กะยาวใหญ่ จ.พังงา

เปิดปมโกงที่ป่าสงวนบ้านย่าหมี จ.พังงา

ต้นปี 2549 มีโครงการสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ในอ่าวคลองสน บ้านย่าหมี ซึ่งโครงการนี้เป็นของบริษัทร่วมทุนต่างชาติ นับว่าเป็นโครงการที่ตอบรับกระแสการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ย.48 พิจารณา เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต พังงา กระบี่ ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยว)  ซึ่งในขณะนั้นบริษัทร่วมทุนต่างชาติขานรับนโยบายของรัฐบาลด้วยการกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากใน ต.เกาะยาวใหญ่ เพื่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าและทำพอนทูนจอดเรือ ไม่ต่ำกว่า 85 ลำ พร้อมทั้งรีสอร์ทหรูหราและบ้านพักตากอากาศ

คงจะไม่มีปัญหาใดๆ หากไม่ได้สร้างท่าเทียบเรือพร้อมที่จอดเรือในอ่าวคลองสน บ้านย่าหมี  เป็นอ่าวเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใน อ.เกาะยาว เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ไหนมีหญ้าทะเลที่นั่นจะมีพะยูน รวมไปถึงเต่าทะเลบางชนิดด้วย อีกทั้งยังเป็นระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญส่วนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลและที่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่แล้ว ยังมีปะการังน้ำตื้นอีกด้วย มีหมู่บ้านเพียงไม่กี่แห่ง ที่จะมีระบบนิเวศชายฝั่งครบและสมบูรณ์ดังเช่นหมู่บ้านย่าหมี

ดังนั้น กระบวนชาวบ้านในการปกป้องพื้นที่อ่าวคลองสนจึงเกิดขึ้นภายใต้ชื่อ “กลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 23 ก.พ.50 สำนักงานขนส่งทางบกที่ 5 สาขาพังงาได้ยกเลิกการอนุญาตก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือมารีน่า บริเวณอ่าวคลองสน บ้านย่าหมี เนื่องจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้อธิบดีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี แจ้งให้สำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาพังงา เพิกถอนใบอนุญาต

เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับชาวบ้านย่าหมี แต่เรื่องยังไม่จบลงแค่นั้น...

ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เมื่อชาวบ้านสังเกตเห็นบนภูเขามีการใช้รถแบ๊คโฮไถเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าสมบูรณ์เป็นการปลูก กล้วย มะพร้าว เฟื่องฟ้า เป็นต้น และถางป่าทำให้กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวคือเป็นภูเขา ชื่อ “ควนย่าหมี เขาช่องหลาด” ซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด จึงช่วยกันสืบหาความจริง และพบว่า มีบริษัทร่วมทุนต่างชาติกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านและ ออกเอกสารสิทธิครอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาดที่อยู่ในเขตบ้านย่าหมีด้วย

กลางเดือนธันวาคม 2550  ชาวบ้านย่าหมีกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชนหลังจากได้มีการนำรถแบ็คโฮเข้ามาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 

จากนั้นต้นเดือนกุมภาพันธ์  2551 ชาวบ้านย่าหมีจำนวน 17 ราย ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธร อ.เกาะยาว จ.พังงา ด้วยข้อหาร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง  อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร ( ต้นงวงช้าง  ) ที่น่าแปลกใจก็คือ มีชาวบ้าน 1 ใน 17 คนนั้นไม่ได้ขึ้นไปสำรวจพื้นที่ป่าด้วยเลยกลับได้รับหมายเรียกกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีไปด้วย

     
การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งป่าช่องหลาด ต.เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา

ปัจฉิมบทแห่งการต่อสู้...ที่ยังไม่จบ

เราลองมาต่อจิ๊กซอกันเล่นๆ บนฐานข้อมูลจริง!

เจ้าของโครงการท่าเรือมารีน่าที่อ่าวคลองสน คือบริษัทร่วมทุนต่างชาติ (ของนายพลทหารอากาศนอกราชการ-นอมินีต่างชาติ) ขยับมาดูที่ดินที่ติดกับหาดคลองสนพบว่าเป็นเจ้าของรายเดิมที่เป็นคู่กรณีพิพาทกับชาวบ้าน  เมื่อเดินถัดขึ้นมาบนเขาไม่เกิน 1 ก.ม. การถือครองที่ดินยังเป็นของบริษัทร่วมทุนต่างชาติรายเดิมอีก และที่ร้ายไปกว่านั้น พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีการบุกรุกและออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ก็เป็นผลงานของบริษัทร่วมทุนต่างชาติรายนี้เช่นกัน

จิ๊กซอแต่ละชิ้น เหตุการณ์แต่ละครั้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นความจงใจ!

ถ้าภาพเหตุการณ์ยังไม่ชัดเจน...มีข้อมูลเพิ่มนั่นคือ ฝั่งตรงข้ามกับหาดคลองสนเป็นอ่าวบ้านยามู ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต ซึ่งมีโครงการสร้างท่าเรือมารีน่าด้วยเช่นกัน หากสร้างเรือมารีน่า 2 หมู่บ้านสำเร็จ อย่างน้อยๆ เรือยอร์ชเรือสำราญสามารถเดินทางจากภูเก็ตถึงเกาะยาวได้ง่ายขึ้น ประหยัดขึ้น เป็นส่วนตัวมากขึ้น...

“กลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” เป็นชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ กำลังคนเพียงแค่หยิบมือต้องเป็นฝ่ายตั้งรับกับนโยบายการท่องเที่ยวจากรัฐ อีกทั้งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีทั้งเงินและอำนาจ!

สิ่งที่กลุ่มเครือข่ายฯ ต้องการก็คือ ยุติการบุกรุกและเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด  แต่ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับอำเภอและระดับชาติ

“ป๊ะ (พ่อ) ไปยื่นหนังสือเรื่องนายทุนบุกรุกที่ป่าสงวนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังเงียบไม่มีใครทำอะไร แต่นายทุนก็ยังไถที่ป่าและตัดต้นไม้ไม่หยุด... กว่าจะถึงวันที่นาย(เจ้าหน้าที่ของรัฐ) สั่งให้หยุด ป่าต้นน้ำของบ้านเราก็หมดเสียแล้ว” นายสามารถ  งานแข็ง อดีตผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านย่าหมีเล่าเรื่องการเดินทางไปยื่นหนังสือถึงเจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำเนินการกับคนโกงแผ่นดินของชาติเหล่านี้

หากจะถามว่า ผิดด้วยหรือกับการที่ชุมชนบ้านย่าหมีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 มาตร 67 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

และจะมีใครสักคนตอบว่า “ผิด” ...อย่าว่าแต่ชาวบ้านย่าหมีจะสูญเสียพื้นที่ป่าต้นน้ำอันเป็นพื้นที่ผืนป่าของชาติเลย

ประเทศไทยคงจะเสียแผ่นดินของชาติในเร็ววันนี้ด้วยเช่นกัน...

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: