ทะเลอันดามันจะเป็นมรดกโลก?
สุจารี ไชยบุญ องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
ตีพิมพ์ใน ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-31 กรกฎาคม 2551
หลายเดือนที่ผ่านมากระแสของมรดกโลกเป็นที่กล่าวถึงและตื่นตัวในแวดวงกรมสีเขียวอย่างกว้างขวาง และในวันนี้ หากไม่กล่าวถึงประเด็น มรดกโลก คงไม่ได้แล้ว
ด้วยความที่ทะเลอันดามันนี้มีความงดงามและสมบูรณ์พร้อมไปด้วยความหลากหลายทางทะเล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คิดว่าจะเสนอแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็น แหล่งมรดกโลก ตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เพื่อดำรงรักษาแหล่งดังกล่าวให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการคุ้มครองโลก และเป็นเกียรติภูมิของประเทศ นั่นเป็นเพียงการคิดแต่ยังไม่มีคำตอบและข้อสรุปว่าพื้นที่ใดจะมีความเหมาะสมที่จะนำเสนอเป็นมรดกโลก
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว 5 แห่ง เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ และมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ แหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา , แหล่งมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ชายฝั่งทะเลอันดามันประกอบไปด้วย 6 จังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมความยาวทั้งสิ้น 954 กิโลเมตร และอุทยานแห่งชาติคอยกำกับและดูแลถึง 17 อุทยานแห่งชาติกับอีก 1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมเป็น 18 แห่ง
เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน 6 จังหวัด นับว่ามากพอสมควร แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ชี้วัดได้ว่า ทะเลอันดามันมีทรัพยากรสมบูรณ์
จากการสำรวจความคิดเห็นเบื้องต้นกับชาวบ้านที่อยู่และผู้ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติเรื่อง มรดกโลก พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามรดกโลกคืออะไร แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธการเป็นมรดกโลก มีข้อกังวลจากชาวบ้านประการสำคัญก็คือ หากพื้นที่ๆ พวกเขาอยู่ได้เป็นมรดกโลกแล้ว พวกเขาจะสามารถอยู่ที่เดิมได้หรือไม่??
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่ควรละเลยเสียงสะท้อนจากชุมชนท้องถิ่น เพราะยิ่งสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับชุมชนมากเท่าใด ก็ยิ่งลดความขัดแย้งในพื้นที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
การขจัดความขัดแย้งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือมีแผนการจัดการพื้นที่ในเขตอุทยานฯ โดยการจัดการอย่างมีส่วนร่วมกับองค์กรท้องถิ่นทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น องค์กรชุมชน องค์กรภาครัฐระดับตำบล อำเภอ องค์กรธุรกิจ นักวิชาการ เป็นต้น
กว่าจะเป็นมรดกโลกนั้นไม่ง่าย ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาหลายขั้นตอน แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการดำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันดามันให้อยู่อย่างยั่งยืนต่างหาก
|