homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ยุทธวิธีกับการเผยแพร่ปัญหาขององค์กรชาวบ้าน

สุจารี  ไชยบุญ   องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
ตีพิมพ์ใน  ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่   1-15 ส.ค.2551

          เมื่อเอ่ยถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือ Ecotourism  คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก
          และถ้าเอ่ยชื่อท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เกาะยาวน้อย จ.พังงา คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จักเช่นกัน

            เป็นเวลาเกือบ10 ปี แล้วที่ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน ต.เกาะยาวน้อยเปิดแนวร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งเหตุผลในการเปิดแนวร่วมครั้งนี้มิใช่เพื่อ “เงิน” แต่กิจกรรมนี้มีความลุ่มลึกกว่านั้น ทางชมรมฯ ใช้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศนี้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอปัญหาทรัพยากรชายฝั่งให้แก่ผู้มาเยือน

          การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(Ecotourism) หมายถึง การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ในแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ โดยมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดจิตสำนึกต่อการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

            ในกรณีนี้เราไม่อาจจะเรียกขาน “คนมาเที่ยว” ว่าเป็นนักท่องเที่ยว
เพราะมีคนจำนวนไม่มากนักที่จะมาพักแบบ Home Stay ซึ่งไม่ได้มาเพื่อเสพธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาเหล่านั้นมาเพื่อ “เรียนรู้” และมีสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมสูง  ซึ่งหากเราพวกเขาเหล่านั้นว่า “นักท่องเที่ยว” เท่ากับว่าเป็นการดูถูกภูมิความคิด จึงขอเรียกว่า "ผู้มาเยือน"

            กิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกาะยาวน้อยนั้นจะเน้นย้ำที่วิถีชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งวิถีจะดำรงอยู่ได้ก็อาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์      และการนำมาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์นั้นเกิดมาจากการรวมตัวกันขององค์กรชาวบ้านภายใต้ชื่อ “ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน ต.เกาะยาวน้อย” ซึ่งภายหลังชาวบ้านส่วนหนึ่งแยกตัวออกมาและดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภายใต้ชื่อ “ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยชุมชนเกาะยาว”

            ไม่ว่าจะเป็นองค์กรชุมชนกลุ่มใดล้วนแล้วแต่มี “ธง” เดียวกัน นั่นคือ ต้องการปกป้องรักษาและมีจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

            ที่อ่าวพังงามีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่พิเศษกว่าทะเลที่อื่น ตรงที่อ่าวพังงาเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมง 3 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงาและกระบี่ ดังนั้น “ขบวนการกู้ทะเล” จึงไม่ได้ตกเป็นภาระหน้าที่ของชาวบ้านที่เกาะยาวน้อยเพียงกลุ่มเดียว แต่ประกอบด้วยชมรมชาวประมงพื้นบ้าน 3 จังหวัดมารวมตัวกันเป็น “เครือข่าวชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา”
อย่างที่บอกข้างต้นว่า “เงิน” ไม่ใช่ประเด็น จุดขายคือ “วิถีประมงพื้นบ้าน” และสิ่งสำคัญที่พวกเขาต้องการสื่อสารคือ การบอกเล่าปัญหาการทำลายทรัพยากรทางทะเลจากเครื่องมือที่ทำลายล้าง เช่น อวนลาก อวนรุน แม้ว่าจะเป็นการบอกเล่ากับผู้มาเยือนในเวลาอันสั้น แต่ก็สัมผัสได้ถึงความมีน้ำใจไมตรีที่มีให้ ซึ่งคนเมืองอย่างผู้มาเยือนโหยหายิ่งนัก

          และภายหลังการจากลา...เกิดเป็นมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่ระหว่างผู้มาเยือนกับเจ้าบ้าน
หรืออีกนัยหนึ่ง...ระหว่างผู้บริโภคทรัพยากรกับผู้รักษาทรัพยากร

   
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: