หมู่บ้านกู้กู กู้ ป่าคืน
โดย สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
ตีพิมพ์ใน ภูเก็ตโพสต์ ฉบับ 1-15 กันยายน 51
หลายพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงมีข่าวที่ดังและกำลังเป็นประเด็นร้อนที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องการบุกรุกและออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ป่าบกและ ป่าชายเลนทับที่เขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ
ที่ หมู่บ้านกู้กู ด้วยเช่นกัน กลางเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ถ้ายังจำกันได้ที่เป็นข่าวข่าวหน้าหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น กลุ่มชาวบ้านกู้กู ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตราว 2 กิโลเมตร แจ้งจับรถแบ็คโฮของนายทุนต่างถิ่นที่อ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ทั้งโฉนดและ นส.3 ในพื้นที่ป่าชายเลน และเข้าบุกรุก ถางไถป่าชายเลน 50 กว่าไร่
หลังจากนั้นปลายปีที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านได้รวบรวมข้อมูลและร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และทางจังหวัดภูเก็ตมีมติแต่งตั้งให้นายอำเภอเมืองภูเก็ตเป็นตัวกลางประสานงานกับชาวบ้าน เพื่อรวบรวมหลักฐานต่างๆ ซึ่งผลปรากฎแน่ชัดว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการออกเอกสารสิทธิ โดยไม่ถูกต้องเป็นผลให้จังหวัดต้องทำเรื่องให้ทางกรมที่ดินทำการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว กระทั่งถึงเวลานี้กรมที่ดินยังไม่ดำเนินการใดๆ ให้ถูกต้องตามมติของจังหวัดเลย
ทางชาวบ้านกู้กูเองไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่ง DSI ได้เดินทางลงพื้นที่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อสำรวจป่าชายเลนและสอบปากคำจากชาวบ้าน พบความจริงที่เป็นความจริงประจักษ์อยู่ตรงหน้า และกลุ่มชาวบ้านได้ทำหนังสือฎีกาถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
เมื่อกลุ่มชาวบ้าน เดินเกมรุก เช่นนี้ นายทุนมิอาจจะกระทำการใดๆ อย่างต่อเนื่องได้...ไม่กล้าแม้แต่จะเข้าไปในที่ดินที่บอกว่าเป็นของ ตนเอง
หมู่บ้านกู้กูเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เมือง ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำงานในเมืองหรือค้าขาย รวมไปถึงรับจ้างทั่วไป การใช้ประโยชน์การประมงหรือป่าชายเลนมีน้อย
ที่นี่มีคนทำประมงอยู่บ้างไม่ใช่ไม่มีเลย แม้ว่าพวกเราส่วนใหญ่จะไม่ได้มีอาชีพประมง แต่ป่าชายเลนอยู่ที่นี้มาก่อนพวกเราเกิด เราผูกพันกับป่าผืนนี้ อยากให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่ให้คนในชุมชนได้พักผ่อนด้วย และต้องรักษาป่าชายเลนไว้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นคำบอกเล่าจากใจของนายสมหมาย เจริญสุข ประธานชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านกู้กู ในวันเตรียมงานก่อนจะจัดปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 76 พรรษาในวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา
นัยสำคัญของการปลูกป่าชายเลนครั้งนี้ดูเหมือนเป็นการปลูกป่าฯ เฉลิมพระเกียรติตามวาระโอกาส แต่เป้าหมายแฝงเร้นนั้นต้องการให้ผู้ร่วมงานและบอกกล่าวให้สังคมคนภูเก็ตได้รับรู้ถึงการทำงานที่ไม่ชอบธรรม ของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นข้าราชการโดยใช้ช่องทางของกฎหมายและอำนาจมารังแกประชาชน และเหตุผลประการสำคัญคือ ชุมชนบ้านกู้กูอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนโดยตรง แต่การมีสำนึกร่วมและการตระหนักรู้ของคนในชุมชนสามารถเกิดขึ้นและปฏิบัติได้ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่กระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
อำนาจเงินอาจจะงัดง้างกฎหมายให้มีช่องโหว่ได้
แต่... เงินก็มิอาจทลายพลังความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนลงไปได้ |