homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

จากคนบ้านแหลมล้านถึงคนบ้านย่าหมี : คนใช้ป่าผืนเดียวกัน

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2551

การเดินทางของคน 2 หมู่บ้าน 2 ตำบล ที่อยู่ห่างกัน แต่มีผืนป่าอันสมบูรณ์เชื่อมร้อยให้คน 2 ชุมชนไปมาหาสู่กัน มาใช้ประโยชน์จากป่าต่นน้ำร่วมกัน

การเดินทางไปบ้านแหลมล้าน ต.พรุในและบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ด้วยภารกิจสนทนาติดตามความคืบหน้าการทำกิจกรรมของชุมชน

ทั้ง 2 หมู่บ้านนี้ อยู่ในเกาะยาวใหญ่ แต่คนละตำบล ห่างกันประมาณ 20 ก.ม. บ้านแหลมล้านอยู่ปลายแหลมสุดท้ายเกาะ ส่วนบ้านย่าหมีโอบล้อมด้วยผืนป่าต้นน้ำอันสมบูรณ์

การเดินทางเริ่มต้นยามสายที่บ้านแหลมล้าน ชาวบ้านที่นี้ทำการประมงเป็นอาชีพหลัก เช่น ไซหมึก อวนปู ไซปลา และจะประกอบเครื่องมือประมงประเภทไซด้วยตนเอง วัตถุดิบที่จำเป็นคือ ไม้ลำต้นขนาดเล็กหรือหวาย แต่นิยมใช้หวายมากกว่าเพราะมีความคงทน

กลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมวงสนทนาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะเป็นช่วงวันเวลาที่หัวหน้าครอบครัวไปทำการประมง  หากผู้หญิงว่างเว้นจากงานบ้านซึ่งเป็นงานหลักแล้ว จะรวมกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำ และมาดอวน เป็นอาชีพเสริม

 หลังจากนั้นเดินทางไปที่บ้านย่าหมี ซึ่งอยู่ฝากหนึ่งของเกาะยาวใหญ่ เราตั้งวงสนทนาที่ริมชายหาดคลองสน เป็นหาดที่มีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ หอยชักตีนมากมายยามน้ำลง

“หาดคลองสน” นี่เองที่ชาวบ้านย่าหมีเล่าว่า มีบริษัทร่วมทุนต่างชาติจะสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ลองหลับตานึกเล่นๆ ว่าหาดคลองสนเป็นเวิ้งอ่าวไม่ใหญ่ไม่เล็ก ลมพัดเอื่อยๆ หาดทรายขาวๆ ถ้ายิ่งได้เป็นเจ้าของที่ดินหน้าหาดคลองสนก็เท่ากับได้ครอบครองหาดคลองสนทั้งหมดด้วย...ช่างวิเศษเสียจริง

และชาวบ้านชี้ให้ดูบนเขาที่ด้านหลังเป็นป่าผืน คือ ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าช่องหลาด” เป็นป่าต้นน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนทั้งตำบลเกาะยาวใหญ่ รวมไปถึงชาวบ้านตำบลพรุในเข้ามาใช้ประโยชน์ในป่าผืนนี้ด้วย เมื่อดูให้ดีอีกทีก็พบการตัดต้นไม้ ร่องรอยรถไถเกลี่ยปรับสภาพป่าสงวนแห่งชาติ

ประเด็นสำคัญของวงสนทนาทั้ง 2 หมู่บ้านไม่ได้อยู่ที่ชาวบ้านทำกิจกรรมอะไรไปบ้าง และได้ผลอย่างไร แต่สิ่งที่พบก็คือ ชาวบ้านแหลมล้านบอกว่า ถ้าหากหาหวายและไม้หรับทำไซหมึกบริเวณป่าแถวนี้ไม่ได้ ก็จะไปหาในป่าที่บ้านย่าหมี แต่ตอนนี้เข้าไปในหาไม้ในป่าย่าหมีไม่ได้อีกแล้ว

“อย่าว่าแต่หาไม้เลย เข้าไปก็ยังไม่ได้เลย พวกคนงานเขาไล่ออกมา” เป็นเสียงของชาวบ้านพรุในคนหนึ่งพูดแทรกขึ้นมา

นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนในวงสนทนาแปลกใจ ในเมื่อป่าผืนนั้นเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทำไมชาวบ้านถึงเข้าไปใช้ประโยชน์ไม่ได้

คำตอบที่ได้รับเมื่อเดินขึ้นไปดูป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าช่องหลาด” ที่บ้านย่าหมี พบป้ายไม้เขียนข้อความว่า “ที่ส่วนบุคคลห้ามเข้า”

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ  องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: