พิทักษ์สิทธิ!! ประมงพื้นบ้าน
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (แท๊บลอยด์) ฉบับวันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม 2551
ชาวประมงพื้นบ้านไม่ได้เกิดมาจนโดยธรรมชาติ แต่เราจนเพราะถูกกระทำทั้งจากกฎหมาย นโยบายต่างๆ ที่เอื้อต่อนายทุน ปลาเป็นของส่วนรวมไม่ใช่สมบัติส่วนตัว กรุณาอย่าทำให้ปลาเป็นสมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง เรามีปัญหาร้ายแรงจากเรืออวน ซึ่งรัฐบาลไม่เคยจัดการ เรามีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเรา เรามีเครื่องมือและวิธีการจับปลาที่หลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นวิธีที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
นั่นเป็นคำกล่าวของโซยลา บัสตามันเต จากประเทศชิลี ซึ่งเป็นประธานสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านละตินอเมริกา
คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำพาชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นชาวประมงขนาดเล็กทั่วโลกจาก 26 ประเทศ จำนวน 116 คน มาประชุมร่วมกันที่กรุงเทพฯ และหากเอ่ยถึง ชาวประมงพื้นบ้าน แน่นอนว่าหลายคนคงคลับคล้ายคลับคลาว่ารู้จัก แต่ภาพของประมงพื้นบ้านในความรู้สึกนั้นช่างเลือนรางเต็มที
ชาวประมงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม คือบุคคลที่ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ ไม่ทำลายทรัพยากร เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดวิถีชีวิตจากบรรพบุรุษ มีวิถีชีวิตที่พอพียง มีสิทธิในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มองค์กรต่างๆ ในชุมชนที่มีหลากหลายกลุ่ม มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ซึ่งเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO ร่วมกับกรมประมง จัดงาน ประชุมระดับโลกของชาวประมงขนาดเล็ก (Global Conference on Small-Scale Fisheries) โดยกล่าวว่าเพื่อความยั่งยืนมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประมงขนาดเล็ก ด้วยความร่วมมือและมีความรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ช่างเป็นคำพูดที่สวยหรูฟังดูดี! แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงการประชุมของ FAO ก็ไม่เคยให้ความสำคัญกับชาวประมงขนาดเล็ก แม้แต่ที่ยืนในที่ประชุมก็ยังไม่มี
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้ประสานงานสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้เอฟเอโอจะบอกว่าเป็นครั้งแรกในการจัดประชุมว่าด้วยประมงขนาดเล็กแต่กลับ ไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย เท่ากับผู้จัดงานขาดความจริงใจที่จะแก้ปัญหาความยากจนให้กับชาวประมงพื้นบ้านอย่างแท้จริง คำว่าชาวประมงขนาดเล็กของผู้จัดงานหมายถึงชาวประมงประเภทไหนกันแน่
เมื่อ FAO และกรมประมงไม่ให้ความสำคัญ จึงมีการผลักดันให้เกิดพื้นที่ที่สำหรับยืนพูดเรื่องราว ปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านชาวประมงขนาดเล็กโลก และการผลักดันนั้นก็ประสบความสำเร็จ แต่ชาวประมงพื้นบ้านเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าการประชุมในครั้งนี้ของ FAOและกรมประมงจะช่วยแก้ไขปัญหานานาประการให้ลุล่วง
และนั่นจึงเป็นที่มาของการประชุมครั้งยิ่งใหญ่ร่วมกันของชาวประมงพื้นบ้านหลายสัญชาติ นอกจากชาวประมงพื้นบ้านจากประเทศไทยแล้ว ในส่วนต่างประเทศเดินทางมาจาก กลุ่มประเทศยุโรป ละตินอเมริกา เอเชีย แอฟริกา กลุ่มประเทศในแถบทะเลแคริเบี้ยน
แม้ว่าจะสื่อสารกันคนละภาษา แต่สิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวและส่งสารเข้าใจกันได้คือ ประเด็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ นั่นคือ ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาการละเมิดสิทธิของชาวประมงพื้นบ้าน ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น
จากทุกประเทศมีประเด็นปัญหาร่วมกัน จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการที่ รัฐ เป็นผู้กระทำ ผลที่ออกมาสู่สาธารณะ ไม่มีแตกต่างกัน เหมือนกันราวกับเป็นรัฐบาลเดียวกัน
ผลจากการประชุมร่วมกันของชาวประมงพื้นบ้านหลายประเทศนั้นไม่ได้มีข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องใดๆ ต่อ FAO และกรมประมง แต่มีคำประกาศร่วมกันของชาวประมงพื้นบ้านทั่วโลก ภายใต้ชื่อ เครือข่ายประชาคมชาวประมงขนาดเล็กโลก เพื่อให้เจ้าภาพจัดประชุมได้สำนึกและตระหนักร่วมกันว่า
ประการแรก การสร้างหลักประกันการเข้าถึงสิทธิ โดยมีสาระสำคัญเรื่อง สิทธิการเข้าถึงการมีถิ่นฐาน การเข้าถึงที่ดิน แหล่งน้ำของงชุมชนประมงขนาดเล็กและชุมชนประมงดั้งเดิม ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทำให้สามารถมีวิถีชีวิตและมีความมั่นคงในงานอาชีพดำเนินต่อเนื่อง รวมถึงสิทธิและความชอบธรรมในการดำเนินการที่ชุมชนชาวประมงดำเนินการ อนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟู และจัดการระบบนิเวศ ตามสภาพท้องถิ่นที่แตกต่างกันของตนเอง ตลอดจนสร้างหลักประกันที่จะต้องนำองค์ความรู้ชุมชน วัฒนธรรม จารีตประเพณี กฎระเบียบชุมชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายอย่างเท่าเทียม
ประการที่สอง หลักประกัน สิทธิหลังเก็บเกี่ยว (จับสัตว์น้ำได้แล้วไปไหนต่อ) มีสาระสำคัญว่าด้วยเรื่องของ การปกป้อง สิทธิผู้หญิงในชุมชนประมงขนาดเล็ก ในกระบวนการหลังจับสัตว์น้ำ การแปรรูป การค้า และการจัดทำอาหาร จากการควบคุม รวมศูนย์ กดขี่แรงงาน เคารพความหลากหลาย และการกระจายของชุมชนประมงขนาดเล็ก และพัฒนาความสามารถในการทำประมงให้แก่ผู้หญิงชาวประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนพัฒนาเทคโนโลยีการถนอมอาหารที่เหมาะสม และจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในการจัดการผลผลิตและการตลาด และประเด็นที่สำคัญของประการที่สองก็คือ ให้ชุมชนประมงมีบทบาทในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งด้านผลผลิตและการแปรรูปและจัดทำ ระเบียบ ข้อกำหนด ในการประมงส่งออก ให้สอดคล้องกับการทำประมงอย่างยั่งยืน
และประการสุดท้าย การสร้างหลักประกันด้านสิทธิ กล่าวถึงเรื่อง ปกป้อง วัฒนธรรม และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิชุมชนประมงขนาดเล็ก ชุมชนดั้งเดิม ปกป้องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การรับรองสิทธิ ศักดิ์ศรีของชุมชนประมงและกลุ่มชาติพันธ์ และรัฐบาลต้องดำเนินการ แปรหลักการ ตามอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ และคำแถลงขององค์กรสหประชาชาติว่าต้องสิทธิชุมชนดั้งเดิม ทั้งยังต้องมีกลไกสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านให้สามารถพัฒนาศักยภาพตนเอง เพื่อเข้าร่วมกำหนดนโยบายการจัดการทรัพยากรชายฝั่งของตนเอง
จะขอพูดอีกครั้งหนึ่งว่าใจความทั้ง 3 ประการหลักที่กล่าวไปนั้นไม่ใช่ข้อเรียกร้อง แต่เป็นคำประกาศร่วมกันของ เครือข่ายประชาคมชาวประมงขนาดเล็กโลก เพื่อให้ FAOและกรมประมงได้สำนึกและตระหนักร่วมกัน แม้ว่าจะไม่คาดหวังอะไรกับการประชุมครั้งนี้ แต่การที่ได้เข้าไปมีที่ยืนและพูดถึงประเด็นปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านทั่วโลกให้กับที่ประชุมได้ทราบถือว่าประสบความสำเร็จ
...และสิ่งที่ต้องทำเมื่อกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของชาวประมงพื้นบ้านทุกคนก็คือ การผลักดันให้ชุมชนประมงพื้นบ้านมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นและ การผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติในระดับประเทศของตนเองต่อไป
ผู้เขียน สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |