homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

เปิดหน้าประวัติศาสตร์การปกป้องทรัพยากรชุมชน ของชาวย่าหมี-อ่าวคลองสน หมู่ 3 ต.เกาะยาวใหญ่  อ.เกาะยาว  จ.พังงา

กวินทรา  ใจซื่อ
โครงการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและชายฝั่งทะเล

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลของรัฐและเอกชน เกิดขึ้นหลายโครงการ    เช่น  โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย  โรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูด  ท่าเรือน้ำลึก เขื่อนหินกั้นคลื่นที่มีมากมายทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน เป็นต้น  โครงการเหล่านี้ได้สร้างความสงสัยและกังขาให้กับประชาชนในพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นอย่างมาก  ซึ่งเห็นได้จากการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่โครงการและ กลุ่มเครือข่ายได้ออกมาเรียกร้อง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติโครงการได้ทบทวน  ชะลอ  และยุติโครงการ  หลายต่อหลายครั้งมักจะมีสถานการณ์ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง  ส่วนสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งมาจาก โครงการพัฒนาทั้งขนาดใหญ่และขนาดอื่นๆนั้น ล้วนแล้วขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในด้านการร่วมรับรู้  ร่วมคิด  ร่วมวางแผน และร่วมตัดสินใจ  ซึ่งไม่เห็นผลประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นของท้องถิ่นหรือชุมชนเลย อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุล  ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างใหญ่หลวง

อ่าวคลองสน ชุมชนย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา ในวันนี้ยังคงเป็นแหล่งรวมทรัพยากรที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ภูเขาถึงทะเล     เช่น ป่าต้นน้ำที่อยู่บนภูเขา  ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณพืชมากมายหลายชนิดและมีขนาดใหญ่    แนวโขดหินที่ติดกับชายฝั่ง   ป่าชายหาดที่มีพรรณไม้ต่างๆ เช่น  จิก  สน  ชะคราม  ผักบุ้งทะเล หาดทราย   แหล่งหญ้าทะเล  แนวปะการัง  ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน  จึงทำให้บริเวณอ่าวคลองสนยังคงความอุดมสมบูรณ์

“ชาวย่าหมีไม่ต้องการความเจริญจากการสร้างท่าเรือมารีน่าในอ่าวคลองสน   หมู่บ้านของเรามีความเจริญเพียงพอแล้ว  มีไฟฟ้าใช้ มีแหล่งน้ำที่พอเพียง  มีแหล่งทำกิน แล้วเราจะมีท่าเทียบเรือมารีน่าเพื่ออะไร”  ถ้อยคำของชาวบ้านบอกกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เข้ามาไกล่เกลี่ย ให้ชาวบ้านย่าหมียินยอมให้บริษัท      นาราชา จำกัด  บริษัทร่วมทุนต่างชาติ นำเรือเข้ามาเทียบบริเวณหน้าอ่าวคลองสนเพื่อขนย้าย อุปกรณ์การก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ภายหลังจากที่มีตัดสินใจเซ็นต์ใบอนุญาตการสร้างเขื่อนกั้นคลื่น จากหัวหน้าสำนักงานกรมการขนส่งทางน้ำที่ 5  สาขาพังงา  และใบอนุญาตก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือจาก นายกองค์การบริหารตำบลเกาะยาวใหญ่ โดยที่ชาวบ้านไม่ได้ร่วมรับรู้ ก็ยิ่งสร้างกระแสความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว  

การปกป้องทรัพยากรชายฝั่งของชาวบ้านย่าหมีจากโครงการของ บริษัทข้ามชาติในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำกระบวนการการทำงานที่บกพร่องของภาครัฐ ที่มีมุมมองและทัศนคติที่เคยชินกับการมองชาวบ้านว่าไม่มีความสามารถ ในการเข้าใจรายละเอียดของโครงการได้ แทนที่จะเร่งความเข้าใจกับประชาชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐบางกลุ่มกลับเป็นปากเป็นเสียงแทนบริษัทข้ามชาติในการเจรจาไกล่เกลี่ย ออกหน้าปกป้องกลุ่มบริษัทข้ามชาติ เพื่อให้ชาวบ้านยินยอมให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาก่อสร้างสะพาน    จนเมื่อเกิดความขัดแย้ง ชาวบ้านถูกมองว่าเป็นคนที่ขัดขวางความเจริญ  โดยมีเจ้าหน้าที่ภาคสนามกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นผู้หนุนหลังชาวบ้าน ให้ก่อเหตุสร้างความวุ่นวายให้ชุมชน   

สถานการณ์ที่อ่าวคลองสนในครั้งนี้ก็เช่นกัน   หลังจากที่มีการอนุญาติให้บริษัทข้ามชาติ เข้ามาดำเนินโครงการแล้ว ในพื้นที่ยังมีการสร้างกระแสข่าวว่าชาวบ้านย่าหมี ที่คัดค้านการสร้างสะพานท่าเทียบเรือมารีน่า ได้รับเงินค่าจ้างในการเฝ้าระวังอ่าวคลองสนคนละ 200-300 บาท จากเจ้าหน้าที่มูลนิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์  และยังมีกระแสข่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ภาคสนามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เข้าไปปลุกระดมชาวบ้าน ให้ออกมาคัดค้านการสร้างสะพาน ซ้ำยังบอกอีกว่าชาวบ้านที่เป็นชาวบ้านย่าหมี จริงๆแล้วมีจำนวนไม่มากนัก  นอกนั้นเป็นคนมอญ คนพม่า เข้ามาอาศัยอยู่มากกว่า     นายธนู  แนบเนียร  ผู้ประสานงานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ บอกว่า “ ชาวบ้านย่าหมีและมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯได้ร่วมปกป้อง ทรัพยากรในท้องถิ่นมายาวนานร่วม 10  ปีแล้ว  หลังจากที่ชาวบ้านรับรู้โครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือมารีน่า จึงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯมาโดยตลอด เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชนของชาวบ้านให้คงอยู่  คิดว่าไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ เท่านั้น แต่ประชาชนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย มีสิทธิที่จะปกป้องทรัพยากรในประเทศของตนเองได้”   

ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดเพียงการเซ็นต์ชื่ออนุญาตการก่อสร้างของกลุ่มคน เพียงไม่กี่คน แต่ผลที่ตามมาคือ การสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน เกิดผลกระทบทางด้านร่างกาย  จิตใจ เศรษฐกิจ  สังคม ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม   ในขณะที่ชาวบ้านได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องไว้ซึ่งทรัพยากรของส่วนรวม  กลุ่มนายทุนก็ต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัว กระแสข่าวการคัดค้านโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือ กลับมิได้สร้างความตระหนักถึงความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้านจากกลุ่มบริษัทข้ามชาติ  แต่สร้างความชอบใจที่เห็นว่าชาวบ้านได้ช่วยสร้างสระแสข่าว โดยที่บริษัทไม่ต้องเสียค่าโฆษณาใดๆ

ความเจริญจากการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือมารีน่าจะที่ทางบริษัทต่างชาติได้อ้างนั้น ยังไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่นี้จะไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณอ่าวคลองสน อีกทั้งผลกระทบในการหาอยู่ หากิน  วิถีชีวิตที่พอเพียง   ไม่มีหลักประกันใดๆสามารถประกันได้ว่า บริเวณชายหาดอ่าวคลองสน  แหล่งเรียนรู้ สนามเด็กเล่นทางธรรมชาติขนาดใหญ่ของเด็กๆในชุมชน จะเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่ใครๆสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้  ไม่มีใครรู้อนาคตว่า จะเกิดการสร้างงานสร้างรายได้จริงในชุมชน    และไม่มีใครรับประกันว่าชาวบ้านจะมีความสุขแน่นอนหลังจากที่มีท่าเรือมารีน่า  ของบริษัท นาราชา จำกัด

ชาวบ้านย่าหมียังอยู่ด้วยความหวาดระแวงไม่รู้ว่าบริษัทจะดำเนินการ ต่อไปอย่างไรเท่าที่รู้และเห็นอยู่ในขณะนี้คือ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจผลัดเปลี่ยนเข้ามาสังเกตการณ์บริเวณหน้าอ่าวคลองสนทุกวัน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย !!!!

จนถึง ณ. เวลานี้ ยังไม่เห็นมีหน่วยงานของภาครัฐเข้าไปดูแล สร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน ยังคงปล่อยให้ชาวบ้านต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวที่มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน  หากยังมีการเตะถ่วง  โยนความรับผิดชอบไปเรื่อยๆ  โดยที่ไม่มีหน่วยงานใดกล้าออกมารับผิดในการกระทำครั้งนี้

การเปิดบันทึกเรื่องราวการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนครั้งสำคัญ จะกลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่ชาวบ้านย่าหมีภูมิใจที่ได้รักษาทรัพยากร บนผืนแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อๆไป  ที่จะได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในการทำมาหากิน  ดั่งเช่นบรรพบุรุษของพวกเขา    และจะเป็นบทเรียนสำคัญของหน่วยงานภาครัฐที่ตัดสินใจอนุญาตให้มีการการก่อสร้างโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อน ความรู้สึกของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่     

ปูม้า  ปลาดาว  ลูกกุ้ง  ปลาหมึก  หอยชนิดต่างๆ ในบริเวณอ่าวคลองสน  แหล่งอาหารชั้นดีที่ชาวบ้านได้หาอยู่หากินกันทุกวัน กับข้าวทุกมื้อที่หาได้จากทะเลหน้าบ้านเป็นเครื่องการันตีถึง ความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเลบริเวณอ่าวคลองสนได้เป็นอย่างดี  ซึ่งสอดคลองกับหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่เราต้องการกันมิใช่หรือ

 

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: