สมัชชาสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน ประมงพื้นบ้าน อนุรักษ์ พิทักษ์สิทธิ
ภูเก็ตโพสต์ 1-15 ตุลาคม 2551
หากพูดถึง ประมงพื้นบ้าน เราจะให้นิยามคนกลุ่มนี้ว่าพวกเขาคือใคร?
แน่นอนว่าหลายคนนึกไม่ออก ไม่สามารถให้คำนิยามได้ เพราะภาพของชาวประมงพื้นบ้านนั้นช่างเลือนลางเต็มที และมักจะคุ้นเคยกับเรือประมงพาณิชย์มากกว่า
ในการประชุมด้านการประมงขององค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ใช้คำว่า ประมงขนาดเล็ก หรือ Small-scale fisheries ซึ่งในความหมายของ ประมงขนาดเล็ก ยังมีความคลุมเครืออยู่มาก เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่มีการทำประมงมีขนาดการทำประมงที่แตกต่างกัน คำว่าประมงขนาดเล็กในบางประเทศอาจมีขนาดการจับสัตว์น้ำเทียบเท่าเรืออวนรุน อวนลากในประเทศไทย (อวนรุน อวนลากเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายและลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขตหวงห้ามเป็นประจำ ตลอดจนทำลายทรัพยากรชายฝั่งทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อนและหญ้าทะเล)
ดังนั้นเพื่อแยกให้เห็นกลุ่มประมงที่ชัดเจนมากขึ้น จึงใช้คำว่า ประมงพื้นบ้าน หรือ Fisher Folk เพื่อใช้เรียกชาวประมงรายย่อยที่มีรูปแบบการทำประมงแบบพื้นบ้านและสอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
นับว่าเป็นโอกาสดีของคนเมืองภูเก็ตที่จะได้รู้จักกับ ประมงพื้นบ้าน อย่างใกล้ชิด ในวันที่ 8-10 ต.ค.นี้ จะมีงานสมัชชาสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน (2008 Assembly of Thai Fisherfolks) ที่ ร.ร.วีรสตรีอนุสรณ์ หาดป่าคลอก ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งงานสมัชชาฯ 3 วันนี้เป็นการรวมตัวกันครั้งยิ่งใหญ่ของประมงพื้นบ้าน และร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านจากต่างประเทศ อีก 10 ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ศรีลังกา เคนยา สเปน อินเดีย เป็นต้น
นอกจากการประชุมเพื่อให้คำนิยาม ประมงพื้นบ้าน แล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชาวประมงพื้นบ้านแต่ละพื้นที่ และรวมไปถึงชาวประมงพื้นบ้านที่มาจากต่างประเทศด้วย
ประเด็นสำคัญในเวทีนี้คือ ประมงพื้นบ้าน อนุรักษ์ พิทักษ์สิทธิ เป็นการพูดถึงชาวประมงพื้นบ้านเปรียบเสมือนเป็นนักล่า แต่เป็นนักล่าที่มีวิถีการล่าที่สอดคล้องกับธรรมชาติ แต่กลับถูกละเมิดสิทธิ ทั้งเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิมนุษยชน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ต้องรับการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน
การที่ชาวประมงพื้นบ้านพูดกันหลายคน เสียง ก็ยิ่งดัง
ทาง FAO และกรมประมงไทยก็จะได้ยิน
นับจากนี้ต่อไป
เมื่อ FAO หรือ กรมประมง ไม่ว่าหน่วยงานใดก็ตามจะต้องเห็น ประมงพื้นบ้าน อยู่ในสายตา
ประมงพื้นบ้านจะไม่เป็นเพียงคนชายขอบ หรือ คนกลุ่มเล็กๆ ของสังคมอีกต่อไป
ปัญหาของประมงพื้นบ้านจะได้รับการพูดถึงและแก้ปัญหาอย่างจริงในระดับนโยบาย
และนับจากนี้ต่อไป....
เรื่องราวของประมงพื้นบ้าน ...นักล่า นักอนุรักษ์แห่งท้องทะเล จะได้รับการพูดถึงในวงกว้างทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก
ฉะนั้น รัฐไทย จักต้องไม่เพิกเฉย เย็นชากับการแก้ปัญหาของประมงพื้นบ้านในประเทศไทย
ต้นเดือนตุลา ปลายฤดูฝน... เราจักขอชวนท่านร่วมงาน สมัชชาสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน (2008 Assembly of Thai Fisherfolks)
โดย สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |