homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

สมัชชาสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน (2)
ตอน นิยาม “ชาวประมงพื้นบ้าน”

ภูเก็ตโพสต์  ฉบับวันที่ 16-30 ตุลาคม 2551

            จากตอนที่แล้วที่กล่าวถึงงานสมัชชาสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.นี้ ที่ ร.ร.วีรสตรีอนุสรณ์ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

และผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปร่วมในงานสมัชชาฯ นี้ด้วยเช่นกัน เท่าที่จำได้งานประชุมใหญ่ๆ ของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน จัดที่บ้านป่าคลอกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2539 ซึ่งเป็นการประชุมสัญจรของสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้

ผู้ที่เดินทางมาร่วมงานสมัชชาฯ ครั้งนี้เป็นชาวประมงพื้นบ้าน ที่มาจาก 12 จังหวัด ภาคใต้ (ยกเว้น ยะลาและระนอง) ภาคกลางจาก จ.เพชรบุรี ประจวบฯ ส่วนภาคตะวันออก มาจาก จ.ตราด ระยอง และจันทบุรี รวมจำนวนกว่า 600 คน นับว่าเป็นงานสมัชชาที่ยิ่งใหญ่ของเครือข่ายประมงพื้นบ้านระดับโลก ที่กล่าวว่าเป็นงานระดับโลกนั้น ชาวประมงพื้นบ้านจากต่างประเทศเดินทางมาร่วมงานสมัชชานี้ด้วย

            ภายในงานสมัชชาฯ มีรายการที่น่าสนใจหลายรายการ ในฉบับนี้ขอนำเรื่องการให้นิยามของคำว่า “ชาวประมงพื้นบ้าน” โดยชาวประมงพื้นบ้านเอง ในกระบวนการแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 15 กลุ่ม โดยคละจังหวัด ซึ่งจะเห็นว่าภายในกลุ่มเดียวกันนี้มีหลายจังหวัด นั่นแสดงให้เห็นว่า ต้องการให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่มาจากหลากหลายได้มีการถกเถียง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างออกรสออกชาติ

            ภายหลังจากการสรุปประเด็นกลุ่มย่อยแล้ว  ได้นิยามของคำว่า “ชาวประมงพื้นบ้าน” คือบุคคลที่ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ   เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น  ที่สืบทอดวิถีชีวิตจากบรรพบุรุษ  มีวิถีชีวิตที่พอพียง  มีสิทธิในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กลุ่มองค์กรต่างๆ ในชุมชนที่มีหลากหลายกลุ่ม  มีการเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรในระดับตำบล

ชาวประมงพื้นบ้าน รวมตัวกันในนามกลุ่มออมทรัพย์ นำเงินส่วนหนึ่งจัดสรรเข้ากลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรและสามารถประสานหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต.การปล่อยพันธ์สัตว์น้ำ และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเครือข่ายด้วยกัน รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างทางสังคมที่ชุมชนยอมรับ  โดยการมีส่วนร่วมในการเมือง  การปกครอง  เพื่อผลักดันนโยบายตามที่ชุมชนต้องการ

ด้านการพิทักษ์ สิทธิ “ชาวบ้าน” ต้องเป็นคนกำหนดแผนหรือนโยบายต่างๆ  ,  ออกกฎหมายการอนุรักษ์ระดับชุมชน  ,  แก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง  เช่น กฎหมายประมงที่ใช้มากว่า  30  ปี 

จากการช่วยกันระดมความคิดเห็น จะเห็นได้ว่าโดยภาพรวมแล้วชาวประมงพื้นบ้านเป็นกลุ่มคนที่ไร้ตัวตน ทั้งๆ ที่ชาวประมงพื้นบ้านเหล่านี้ต่างช่วยกันดูแล รักษา และจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีใช้อย่างยั่งยืน

นี่แหละ!  “นักอนุรักษ์ตัวจริง”

ผู้เขียน  สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: