สมัชชาสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน (จบ) ตอน บุกเวที FAO
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2551
สืบเนื่องจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO ร่วมกับกรมประมง จัดงาน ประชุมระดับโลกของชาวประมงขนาดเล็ก (Global Conference on Small-Scale Fisheries) ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร ระหว่างวันที่ 14-17 ต.ค. ที่ผ่านมานี้ โดยการประชาสัมพันธ์ของคณะผู้จัดงานบอกว่า ได้มีการเชิญชวนผู้เข้าร่วมออกไปอย่างกว้างขวางทั้งจากในและต่างประเทศ จากกลุ่มคนทำงานในกิจการประมง แรงงานรับจ้าง ผู้จัดการ นักวิทยาศาสตร์ทางสังคม เจ้าหน้าที่รัฐบาล ตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรทางสังคมต่างๆ นักธุรกิจ แต่ไร้ซึ่งกลุ่มของประมงพื้นบ้านในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้ประสานงานสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้เอฟเอโอจะบอกว่าเป็นครั้งแรกในการจัดประชุมว่าด้วยประมงขนาดเล็ก แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยทำมาหากิน อยู่ในประเทศไทย เท่ากับผู้จัดงานขาดความจริงใจที่จะแก้ปัญหาความยากจนให้กับ ชาวประมงพื้นบ้านอย่างแท้จริง คำว่าชาวประมงขนาดเล็กของผู้จัดงานหมายถึง ชาวประมงประเภทไหนกันแน่
นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดงานสมัชชาสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน 2551 ระหว่าง วันที่ 8-10 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต ในวันสุดท้ายของงานชาวประมงพื้นพื้นบ้านทั้งหมดจำนวน 600 กว่าคน ประกอบด้วย ชาวประมงพื้นบ้านจาก12 จังหวัดภาคใต้ (ยกเว้นระนองและยะลา) จ.ประจวบฯ เพชรบุรี ตราด ระยอง และจันทบุรี และรวมไปถึงกลุ่ม World Forum of Fisher People (WFFP) ซึ่งเดินทางมาจาก 10 ประเทศ เช่น ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน สเปน ฝรั่งเศส เคนยา แอฟริกา เป็นต้น
ทั้งหมดร่วมเดินขบวนรณรงค์ในเมืองภูเก็ตเพื่อบอกเล่าผ่านป้ายผ้า การพูดและแม้กระทั่งการเล่นละครใบ้สะท้อนชีวิตและปัญหาที่ชาวประมงพื้นบ้านถูกกระทำ เรื่อง เรื่องหลังชนฝา ของกลุ่มเยาวชนรักบ้านเรา ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนจากโรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์
จากการประชุมในวันที่ 8-10 ต.ค.ที่ผ่านมาสมัชชาสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านได้คัดเลือกตัวแทนที่เป็นทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน และชาวประมงพื้นบ้าน จำนวน 12 คน เพื่อเข้าร่วมประชุมในวันที่ 14-17 ต.ค. แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า เจ้าภาพจัดประชุมไม่ได้สนใจและใส่ใจชาวประมงพื้นบ้านในประเทศไทย ทั้งที่ความเป็นจริงกลุ่มคนที่ทำหน้าที่จับสัตว์น้ำได้คุณภาพส่งตรงยังผู้บริโภคในเมืองก็คือ ชาวประมงพื้นบ้าน
การพบกันของชาวประมงพื้นบ้านหลายสัญชาติ ระหว่างสมัชชาสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านและกลุ่ม World Forum of Fisher People (WFFP) ได้มีคำประกาศร่วมกันภายใต้ เครือข่ายประชาคมชาวประมงขนาดเล็กโลก ต่อที่ประชุม FAO เป็นเจ้าภาพร่วมกับกรมประมง ระหว่างวันที่ 14-17 ต.ค. โดยมีสาระสำคัญหลักที่น่าสนใจ 3 ประการ คือ 1.การสร้างหลักประกันการเข้าถึงสิทธิ 2.หลักประกัน สิทธิหลังเก็บเกี่ยว (จับสัตว์น้ำได้แล้วไปไหนต่อ) และประการสุดท้าย การสร้างหลักประกันด้านสิทธิ
ไม่ว่าผลประชุมที่เจ้าภาพคือ FAO และกรมประมงจะเป็นเช่นไร นั่นคงไม่ใช่สาระสำคัญมากไปกว่า...
การเป็นชาวประมงพื้นบ้าน...ที่เป็นนักอนุรักษ์ตัวจริง การพิทักษ์สิทธิและเกิดความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนเอง
ผู้เขียน สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |