homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ในความเปลี่ยนแปลง

หนังสือพิมพ์ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 ธันวาคม 51

“สะพานโฟมลอยน้ำ” ที่ทอดตัวจากสุดถนนสาย ต.บางเตย สู่หมู่บ้านบางพัฒน์ ที่เคยอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านบางพัฒน์ในช่วงเวลาสั้นๆ ยังไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำ

กลางปี 2538  หมู่บ้านบางพัฒน์ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา  เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ  30  หลังคาเรือน อยู่ริมป่าชายเลน ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง สภาพหมู่บ้านมีคล้ายเกาะปันหยี และเป็นชุมชนมุสลิม เมื่อก่อนคนในละแวกนั้นคุ้นเคยกับการเรียกว่า “บ้านบางลิง” มากกว่า บ้านบางพัฒน์  เพราะมีลิงแสมที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนหลังหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก และรายล้อมไปด้วยป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สมบูรณ์ ที่ตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณปากคลองไหลออกสู่ทะเลทำให้มีดินตะกอนเป็นแหล่งธาตุอาหาร ส่งผลให้บริเวณนี้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยนางรมแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งในอ่าวพังงา

นอกจากนี้ป่าชายเลนผืนสมบูรณ์ได้รับการฟื้นฟูจากชาวบ้านในหมู่บ้านบางพัฒน์และ หมู่บ้านใกล้เคียงที่ช่วยกันนำพื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมจากการขุดแร่ดีบุกในยุคสมัยที่แร่เฟื่องฟู มาปลูกต้นโกงกางและกลายเป็นป่าชุมชนที่ชุมชนเข้าไปใช้สอยได้ ผลจากการฟื้นฟูป่าชายเลนจากสภาพเสื่อมโทรมกลายเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อนที่หลากหลาย รวมถึงกุ้งเคย (กุ้งสำหรับทำกะปิ) จำนวนมากได้จากริมป่าชายเลน

ส่วนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ก็ไม่ต่างจากชุมชนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น ระบบการศึกษา แต่ที่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่นก็คือ ลักษณ์การตั้งบ้านเรือนที่น้ำท่วมถึง นั่นหมายความว่าเป็นชุมชนที่ไม่มีทางเชื่อมต่อกับแผ่นดิน จึงต้องใช้สะพานทางข้ามจากฝั่งไปยังหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสะพานที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนกับที่อื่นอย่างแน่นอน

“สะพานโฟมลอยน้ำ” ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านช่วยกันสร้างขึ้นใช้ชั่วคราวระหว่างรองบประมาณจาก ทางราชาการเพื่อสร้างสะพานที่มั่นคงและแข็งแรงกว่านี้

ความพิเศษและโดดเด่นของ “สะพานโฟมลอยน้ำ” นอกจากจะเป็นสะพานที่ใช้โฟมเป็นฐานล่างเพื่อให้ลอยน้ำได้ ดังนั้นจึงไม่มีเสาตอหม้อสะพาน ไม่มีปูนซีเมนต์แม้แต่น้อย ที่สำคัญไม่มีราวสะพานไว้จับเพื่อการทรงตัว

จากคุณสมบัติที่โดดเด่นของ “สะพานโฟมลอยน้ำ” นี้ ทำให้เมื่อเวลาเดินข้ามสะพานในเวลาที่ลมแรงมาพร้อมฝน หรือมีแต่แรงลมอย่างเดียวก็ทำให้เสียวไส้ได้เช่นกัน

การไม่มีราวสะพานไว้เพื่อทรงตัวนั่นเป็นประเด็นสำคัญของการใช้สะพาน  บ่อยครั้งที่ชาวบ้านทั้งเด็กและคนแก่ต้องรอให้ลมสงบเสียก่อนจึงเดินข้ามสะพาน

ชีวิตของคนในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ ค่อนข้างเรียบง่าย การเดินทางเข้าตัวเมืองโดยส่วนใหญ่ใช้รถโดยสารหรืออาศัยรถของเพื่อนบ้านเข้าเมือง การมีรถเป็นของตนเองจึงไม่จำเป็น

เมื่อสะพานโฟมลอยน้ำได้ชำรุดไปตามกาลเวลา จึงสร้างสะพานคอนกรีตใหม่ขึ้นมาทดแทน เป็นสะพานใหม่กว่า แข็งแรงกว่า สามารถมารถนำรถมอเตอร์ขับไปจอดหน้าบ้านได้เลย

วันเวลาผ่านไปสะพานเก่าชำรุด สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ในเวลาไม่นาน
แต่หากเป็นทรัพยากรชายฝั่งชำรุดหรือเสื่อมโทรม คงไม่ง่ายนักที่ฟื้นให้คืนกลับมาดั่งเดิม...

โดย  สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: