homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

การอนุรักษ์ป่าชายเลน:ป่ากับชุมชนบ้านกลาง

ตีพิมพ์ในหนังสือ ทักถอความรู้จากแผ่นดิน เล่ม 3

            ป่าชายเลนเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านทั้งในด้านการประกอบอาชีพ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ก้ง หอย ปู ปลา และเป็นที่กันคลื่นลมให้กับหมู่บ้านบริเวณชายฝั่งและพื้นที่ฝั่งอันดามันด้วย ป่าชายเลนเป็นกำแพงกั้นน้ำให้กับชาวประมงบริเวณชายฝั่งหลายหมู่บ้าน ผืนป่าตลอดแนวชายฝั่งนี้เป็นป่าที่ชาวบ้านร่วมกันปลูกและดูแลรักษา

             ป่าชายเลนของตำบลบางเตยในอดีตมีความสมบูรณ์มาก แต่จากการที่ชาวบ้านไม่เข้าใจการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจึงไม่รู้จักที่จะอนุรักษ์และคิดเอาว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐประมาณปี 2530 รัฐได้เปิดสัมปทานเหมืองแร่และสัมปทานเตาถ่าน ซึ่งได้ทำลายทรัพยากรป่าชายเลนจนหมด มีผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะไม่มีที่ทำกิน นอกจากนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงชายฝั่งเท่านั้น ดังนั้น บางครอบครัวจึงต้องไปเป็นลูกน้องเรือถึงประเทศมาเลเซีย ในขณะที่บางครอบครัวต้องทำงานอยู่ในพื้นที่เพราะไม่สามารถทิ้งบ้านเรือนไปได้

           ประมาณปี 2533 ชาวบ้านเริ่มมีแนวคิดที่จะปลูกป่าโดยได้ปรึกษาหารือกันในหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยว่าการปลูกป่าแล้วจะช่วยให้จำนวนต้นไม้เพิ่มมากขึ้น สมบูรณ์ขึ้น มีพันธุ์ไม้หลากหลายขึ้น คนที่ไม่เห็นด้วยก็ว่าปลูกไปแล้วเดี๋ยวรัฐก็เปิดสัมปทานอีก อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ลงมติที่จะปลูกป่า และได้จัดตั้งคณะกรรมการป่าชายเลนขึ้นเพื่อแบ่งหน้าที่งานให้เป็นระบบ เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง สมาชิกบางคนไม่ได้เข้ามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพราะถือว่าเป็นเรื่องของคณะกรรมการ จึงได้มีการประชุมอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปการทำงานและได้ตกลงกันว่าทุกคนต้องมีส่วนช่วยกันดูแลรักษาป่าชายเลน

          สมาชิกได้เสนอการแบ่งป่าออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนป่าอนุรักษ์ ซึ่งไม่ให้สมาชิกเข้าไปตัดไม้แต่เข้าไปหาสัตว์น้ำได้ โซนป่าใช้สอยซึ่งสมาชิกเข้าไปตัดไม้และหาสัตว์น้ำได้แต่ต้องปลูกทดแทน โซนป่าอนุรักษ์สัตว์น้ำ เป็นป่าที่อนุรักษ์ไว้ทั้งต้นไม้และสัตว์เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

         มีการกำหนดระเบียบการใช้ป่าในหมู่บ้านคือการตัดไม้ต้องขออนุญาตจากสมาชิกส่วนมากก่อน ห้ามตัดไม้เอาไปขาย ตัดไม้แล้วต้องปลูกคืนด้วย เมื่อตัด 1 ต้น ต้องปลูกคืน 10 ต้น จะปลูกวันนั้นเลยก็ได้ หรือจะปลูกตอนทำกิจกรรมก็ได้เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ไปนานๆ

          ผมได้ลงไปเรียนรู้กับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นแนวทางการทำงานให้บางส่วน มีการแลกเปลี่ยนเพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมและแนวทางการทำงานต่อไป ได้ร่วมคิดกับชาวบ้านว่าบ้านเรามีพันธุ์กล้าไม้มาก ทำไมต้องไปหาจากสถานีป่าชายเลน มีแนวคิดที่จะทำโรงเรือนเพาะพันธุ์กล้าไม้ขึ้นเองซึ่งสมาชิกทุกคนก็ช่วยกันทำ ช่วยกันลงแรงสร้างโรงเรือนและเก็บฝักมาเพาะพันธุ์ เป็นการสร้างจิตสำนึกให้แก่สมาชิก เยาวชน สตรีในชุมชนให้มีการหวงแหนป่าชายเลนมากยิ่งขึ้น

         ปัจจุบันกลุ่มมีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า เช่น การปลูกป่าในวันสำคัญ วันที่ 12 สิงหาคม หรือ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ถ้าปีไหนไม่ได้ปลูกก็จะทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน เช่น สางป่า หรือเก็บฝักกล้ามาเพาะพันธุ์

        จากการทำงานอนุรักษ์ป่าชายเลน ชาวบ้านได้พัฒนางานเก็บข้อมูลฐานทรัพยากรในชุมชน เช่น วันนี้ไปตกปูดำในป่าชายเลน น้ำกี่ค่ำตกที่คลองไหน ได้กี่กิโลกรัม เพื่อเป็นข้อมูลในการอนุรักษ์และการประกอบอาชีพต่อไป

      ชาวบ้านส่วนใหญ่ดีใจกับการร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนเพราะสิ่งที่ได้รับมีคุณค่า ทรัพยากรในชุมชนเพิ่มขึ้น เช่น พื้นที่ป่าชายเลน สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นต้น ทำให้สมาชิกไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ มีเครือข่ายในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นที่ศึกษาดูงานการจัดการป่าชายเลนให้หมู่บ้านที่สนใจเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานอนุรักษ์ต่อๆปีกด้วย

        ประโยชน์ที่ชาวบ้านได้จากการอนุรักษ์ป่าชายเลนมีทั้งทางตรงทางอ้อม ทางตรงทรัพยากรป่าชายเลนที่เพิ่มขึ้นทำให้มีต้นไม้หลากหลายชนิด ได้แก่ ต้นตะบูนขาว ตะบูนดำ ต้นกาหยีทะเล ต้นโกงกางใบเล็ก ต้นโกงกางใบใหญ่ ต้นแสม ต้นจาก ต้นเหงือกปลาหมอ ต้นกำแพงเจ็ดชั้น และต้นไม้เหล่านี้ยังเป็นที่กันคลื่นลมให้ชุมชนได้อีกด้วย สำหรับประโยชน์ทางอ้อมนั้นชาวบ้านสามารถนำพืชพันธุ์ต่างๆ มาเป็นยาสมุนไพร เช่น ต้นตะบูนขาวเอาเปลือกมาต้มกินรักษาโรคเบาหวาน ต้นเหงือกปลาหมอเอาใบมาขยี้ทาเป็นยารักษาฝี ต้นโกงกางเอาใบหรือเปลือกมาต้มทำสีมัดย้อมผ้า ใบของต้นจากใช้มุงหลังคา ยอดจากทำยาสูบ ลูกจากทำขนมหวาน และน้ำตาวจาก และต้นปอทะเลเอาเปลือกมาทำเชือกได้อีกด้วย นอกจากนั้นในปีหนึ่งๆ ชาวบ้านสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ปีละ 400-500 ขวด เพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง

          ป่าชายเลนเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า  ช่วยให้ชาวประมงประกอบอาชีพได้หลายอย่าง ป่าชายเลนเป็นเหมือนตลาดให้กับชาวประมง  การอนุรักษ์ป่าชายเลนนั้นไม่ได้แค่ป่า แต่ให้อะไรมากกว่าที่คิด ควรที่จะอนุรักษ์ไว้คู่กับชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน คนต้องพึ่งพาป่าและป่าต้องพึ่งพาคน ต่างพึ่งพาอาศัยกัน ถ้าขาดป่าชายเลนชาวประมงก็ขาดแหล่งทรัพยากรและถ้าขาดการอนุรักษ์ ป่าชายเลนก็คงจะหมดไป

โดย บรรดิษฐ์  ติงหวัง
จากหลังสือ ถักทอความรู้จากแผ่นดิน เล่ม 3

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: