homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

วิถีชุมชนประมงบ้านย่าหมี

ตีพิมพ์ในหนังสือ ทักถอความรู้จากแผ่นดิน เล่ม 2

            บรรพบุรุษของ “บังอี” ได้อพยพจากสตูลมายังพังงาเมื่อสมัยสงครามถลาง โดยเข้ามาอาศัยบนเกาะยาวใหญ่ ที่แหลมติกูด บ้านคลองเหีย เมื่อถึงรุ่นพ่อของบังอีได้ย้ายจากแหลมติกูดขึ้นมาอยู่ตามแนวป่าชายเลนที่ติดกับป่าบก ณ บ้านย่าหมีปัจจุบัน

            ชุมชนบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา ยังคงใช้ชีวิตชาวประมงพื้นบ้านแบบเก่าที่สืบต่อจากบรรพบุรุษ ชุมชนบ้านย่าหมีนับถือศาสนาอิสลามที่มีสายสัมพันธ์ระบบเครือญาติตามแบบวิถีชุมชนอิสลาม ให้ความเคารพผู้นำท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้นำทางศาสนาหรือโต๊อิหม่าม ศาสนาเป็นศูนย์กลางให้ชุมชนอยู่ร่วมกับทรัพยากร ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีเป็นลายลักษณ์อักษร คณะกรรมการดูแลจะแบ่งความรับผิดชอบ โดยใช้คลองเป็นตัวกำหนด มีแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการ บ้านย่าหมีไม่มีป้ายบอกกฎระเบียบการดูแลทรัพยากร แต่อาศัยพื้นฐานความเข้าใจและสำนึกความรับผิดชอบร่วมกัน วันศุกร์หลังพิธีละหมาดที่มัสยิด ผู้นำจะนำเรื่องต่างๆ มาพูดคุยหารือแก้ไขปัญหาระดมความคิดในประเด็นต่างๆ

            ครอบครัวบังอีเป็นครอบครัวหนึ่งที่มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบท้องถิ่นที่เรียบง่ายและงดงามภายใต้คำสั่งสอนของศาสนา หาอยู่หากินกับประมงพื้นบ้าน ประมาณ 13 ค่ำ ของทุกเดือน บีงอี อ้อและแดง หลานลูกพี่ชาย จะเตรียมอุปกรณ์และเหยื่อตกปู  ได้แก่ ลูกปลาที่ได้จากการออกอวนกุ้ง เช่น ปลาบ้าสี ปลาแป้น และปลาหลังเขียว น้ำนี้บังอีและหลานๆ เลือกคลองนาใต้บ้านเป็นที่ตกปู ซึ่งจะมีเวลา 7 วัน ระหว่าง 14 ค่ำ จนถึง 5 ค่ำ การตกไซปูเริ่มจาก 14 ค่ำ  ช่วงจังหวะน้ำลง บังและหลานๆ จะลงปักไซบริเวณโพรงปูหรือโพรงร่องน้ำ 3-4 อันต่อจุด จนรอบบริเวณคลองนาใต้บ้าน และทุกๆวันในจังหวะน้ำลง บังแหละหลานจะลงไปเก็บปูและเปลี่ยนถุงเหยื่อ ปูดำที่จะมีที่รับซื้อ ขนาดเพศผู้และเพศเมียจะเป็นตัวบอกราคาที่แตกต่างกันออกไป นอกจากช่วงจังหวะน้ำขึ้นลงแล้วการตกปูต้องดูช่วงข้างขึ้นข้างแรมอีกด้วย ช่วงข้างแรมจะดีที่สุด จะได้เนื้อปูมาก มีไข่แดง ได้น้ำหนัก รสไม่ขม ละจำนวนมาก

            หาดคลองสนเป็นหาดทรายยาวประมาณ 1.8 กิโลเมตร บางช่วงมีโขดหิน และแนวปะการังน้ำตื้นผสมกับหญ้าทะเล ซึ่งมีหลายสายพันธ์โดยเฉพาะหญ้าเงาใบสันที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน แนวหญ้าเงาเป็นแหล่งหอยชักตีน หอยเปลือกบางยาวรี ลักษณะคล้ายหอยหวาน

            บังหาบ เป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งของชุมชนบ้านย่าหมี มีอาชีพหาหอยชักตีน ทุกๆข้างแรม ในช่วงจังหวะน้ำลง บังหาบและครอบครัวจะมานั่งที่ศาลาชายหาดคลองสนเพื่อรอให้น้ำลงถึงระดับแนวเขตหญ้าเงา เริ่มจากไกลๆเดินไล่มาตามแนวคลื่นกระทบแนวหญ้าเงา โดนเดินเรียงเป็นหน้ากระดานเก็บหาหอยมาเรื่อยๆ

            นอกจากหอยชักตีนแล้ว ครอบครัวบังหาบยังหาหอยตาวัวและหอยขิง ซึ่งอาศัยตามแนวโขดหินและแนวปะการัง ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เออกว่าเป็นหอยหรือก้อนหิน  ลักษณะสีเปลือกหอยจะเป็นสีเดียวกับโขดหินแต่หอยตาวัวมีลีกษณะกลมมน ที่ปากหอยจะมีลักษณะคล้ายลูกตาวัว สมัยก่อนนิยมนำมาทำหัวแหวน ส่วนหอยขิงมีลักษณะวงกลมรี บนสันหลังจะเป็นหนามแหลมยาวออกมาประมาณ 5 อัน รสชาติของเนื้อหอยจะเหมือนกับขิง คือ เผ็ดร้อนนิดๆ

            เมื่อน้ำเริ่มขึ้นเป็นสัญญาณบอกว่าได้เวลาหยุดหาแล้ว ทุกคนจะพร้อมใจกันเดินขึ้นหาด และนำหอยต่างๆ ที่หาได้มาวางลง จัดแบ่งส่วนที่เอาไว้กินเอง ขาย  และแบ่งปันให้ใครบ้าง ราคาขายหอยหน้าหาดจะอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 20-25 บาท เป็นรายได้ต่อครอบครัวประมาณ 300 บาทขึ้นไป

            วิถีชีวิตหาอยู่หากินของชุมชนบ้านย่าหมีเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และการจัดการที่ทำให้ทรัพยากรยังคงดำรงอยู่ได้ อาจกล่าวได้ว่า ทรัพยากรท้องถิ่นที่อุดมสมบูรณ์เป็นสัญลักษณ์ของการประกอบอาชีพประมง  สิ่งที่ชุมชนบ้านย่าหมีได้เห็นในปัจจุบัน คือ กุ้ง หอย ปู ปลา ยังหาได้ง่ายอยู่ ทุกคนรู้ว่าป่าชายเลนทำให้มีสัตว์น้ำ ป่าบกที่อุดมสมบูรณ์เป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ ป่าชายหาดช่วยป้องกันการพังทลายของชายหาด และหญ้าทะเล  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็กและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ

            ปัจจุบันบ้านย่าหมีมีประชากร 480 คน พื้นที่ป่าชายเลน 2,801 ไร่ ป่าบก 5,864 ไร่ ป่าชายหาด 390 ไร่ และบริเวณหญ้าทะเล 700 ไร่

            ชุมชนให้ความสำคัญอย่างมากกับกิจกรรมเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติให้ความร่วมมือกับ กฎกติกาในการดูแลรักษาพี่น้องบ้านย่าหมีอยู่ร่วมกันมานาน มีความเข้าใจกันดี ทุกครั้งที่มีปัญหาบนเกาะทุกคนจะรู้กันหมด และจะพูดคุยหารือปัญหาทุกเรื่องกันที่มัสยิด ชุมชนจึงสามารถดูแลและตัดสินใจกิจกรรมต่างๆร่วมกัน

            ชุมชนบ้านย่าหมีสามารถดำรงวิถีชีวิตแบบท้องถิ่น มีความศรัทธาและยึดมั่นในศาสนา มีความสามัคคีและเข้มแข็ง ดำรงชีวิตหาอยู่หากินที่เรียบง่ายอย่างรู้คุณค่าในทรัพยากรธรรมชาติ ทุกวันนี้ป่าชายเลนมีปริมาณเพิ่มขึ้น สัตว์น้ำตามธรรมชาติก็เพิ่มขึ้น และที่สำคัญทุกๆ คนในชุมชนมีความรักทรัพยากรในท้องถิ่นและรู้สึกเป็นเจ้าของและดูแลใช้ประโยชน์ร่วมกัน

โดย  บุศรินทร์  ประดิษฐ์
จากหนังสือ ถักทอความรู้จากแผ่นดิน เล่ม 2

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: