เสวนาที่บ้านป่าคลอก ทรัพยากรชายฝั่ง อยู่ยั้ง ยืนยง
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 มีนาคม 2552
วิสัยทัศน์ของจังหวัดภูเก็ต คือ การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน
ได้ยินได้ฟังวิสัยทัศน์ของภูเก็ตแล้วอดปลื้มใจไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อดเวทนาประชาชนชาวภูเก็ตไม่ได้ด้วย เช่นกัน! เพราะว่า การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเอกลักษณ์วัฒนธรรมนั้นมักจะเดินสวนทางกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเสมอ
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา มีโอกาสได้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาสถานการณ์อ่าวป่าคลอกกับการพัฒนาภาคใต้และ กำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณอ่าวป่าคลอก ที่ ร.ร.วีรสตรีอนุสรณ์ จ.ภูเก็ต เจ้าภาพจัดงานโดยโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) ร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) บรรยากาศการเสวนาในภาคเช้าไม่ค่อยคึกคัก ออกจะหนักไปในทางนำเสนอข้อมูลและสถานการณ์ของอ่าวป่าคลอกมากกว่า
ซึ่งทำให้เรารู้ว่า จ.ภูเก็ตมีแนวหญ้าทะเลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ขนาด 4,445 ไร่ พบหญ้าทะเล 11 ชนิด จากที่พบในประเทศไทย 12 ชนิด แต่แนวหญ้าทะเลอ่าวป่าคลอกมีขนาด 1,780 ไร่ พบหญ้าทะเล 8 ชนิด คือ หญ้าใบมะกรูด,หญ้าคาทะเล, หญ้าอำพันใบเล็ก, หญ้าชะเงาเต่า, หญ้าเงาแคระ, หญ้าชะเงาใบมน, หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อยและหญ้ากุยช่ายทะเล
จากการนำเสนอข้อมูลของนักวิชาการประมงระดับปฏิบัติการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน บอกไว้ชัดเจนว่า แนวหญ้าทะเลป่าคลอกเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์มาก ซึ่งเป็นอาหารของพะยูน และเต่าทะเล จากการสำรวจพบพะยูนที่อาศัยกินอาหารในอ่าวพังงาประมาณ 10 ตัว ซึ่งมีร่องรอยปรากฏว่ามีพะยูนเข้ามากินหญ้าทะเลในอ่าวป่าคลอกบ่อยครั้ง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงของอ่าวป่าคลอกนั้นอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่หนทางของความหายนะ ได้ตลอดเวลา ถ้าหากชุมชนบ้านป่าคลอก ...ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ไม่ร่วมมือร่วมใจกันปกป้องป่าชายเลนและทะเลป่าคลอก
ชายฝั่งทะเลใกล้ๆ กับอ่าวป่าคลอกเปลี่ยนสภาพไปทั้งหมด เพื่อตอบสนองต่อการเป็นเมืองท่องเที่ยว ด้วยการสร้างรีสอร์ท โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ตามมาด้วยท่าเรือสำราญหรือที่รู้จักกันดี ท่าเรือมารีน่า
...แน่นอนว่าการลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรชายฝั่งซึ่งเป็นหม้อข้าวหม้อแกงของคนภูเก็ตเป็นการกระทำ ที่สวนกระแสวิสัยทัศน์หลักของ จ.ภูเก็ต และแม้ว่าพลังชุมชนป่าคลอกจะอ่อนแรงและเหนื่อยล้า เพราะผ่านกระบวนการต่อสู้และปกป้องทรัพยากรของชุมชนมาตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีและสูญเสียสมาชิกนักอนุรักษ์บ้านป่าคลอก 1 คน ซึ่งก็มากพอแล้วสำหรับชุมชนนักอนุรักษ์แห่งนี้
วันนี้...ในวงเสวนามีหลายหน่วยงานที่สนใจเรื่องราวกระต่อสู้ของชาวป่าคลอก และทรัพยากรชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์มากและ ยังคงอยู่ท่ามกลางกระแสการพัฒนาของภูเก็ตที่จะนำไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก
และในวันหน้า...จะเกิดภาคีความร่วมมือในกันจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน เพื่อบอกให้ใครซักคนรู้ว่า ทรัพยากรชายฝั่ง อย่างเช่น หญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนนั้น ไม่ได้มีมูลค่าด้อยไปกว่าการท่องเที่ยวเลยแม้แต่น้อย...
โดย สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |