homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ขยายเขตทะเล ปกป้องทรัพยากรชายฝั่ง

หนังสือพิมพ์ภูเก็ตโพสต์  ฉบับวันที่ 16-31 มีนาคม 2552

ขยายเขตทะเลทำไม?? ทำไมต้องขยาย??

อาจจะเป็นการยากที่จะเข้าใจ แต่ถ้าจะอธิบายง่ายๆว่า ทะเลชายฝั่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อน นั้นเครื่องมือประมงที่ทำลายทรัพยากร เช่น เรืออวนลาก อวนรุน ต้องไม่เข้ามาทำการประมงในเขตทะเลดังกล่าว

และถ้าขยายความในรายละเอียดก็คือ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2515 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490  ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้เครื่องมืออวนลากชนิดมีถุงและเครื่องมืออวนรุน  ที่ใช้เรือยนต์ทุกชนิดทำการประมงไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ภายในระยะ 3,000 เมตร (75 เส้น) นับจากขอบน้ำตามแนวชายฝั่งขณะทำการประมง และรัศมี 400 เมตร(10 เส้น) นับออกไปจากอาณาเขตที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ทุกชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในทะเล   หรือในอ่าวในท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัดโดยเด็ดขาด

ปัจจุบัน เรื่องการขยายเขตทะเลจาก 3,000 เมตร (3 กิโลเมตร) เป็น 5,400 เมตร (3ไมล์ทะเล) ห้ามใช้เครื่องมืออวนลากอวนรุนจับสัตว์น้ำ เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้แต่ละจังหวัดจัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาการประมง ซึ่งจังหวัดที่มีการออกประกาศฯ ไปแล้ว คือ ประจวบฯ กระบี่ ตรัง สตูล ปัตตานี นราธิวาส

ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีความคืบหน้าการประกาศขยายเขตจาก 3,000 เมตรเป็น 5,400 เมตร แต่อย่างใดๆ  เพราะอยู่ในขั้นตอนตั้งคณะกรรมการฯ ในขณะที่รอคณะกรรมการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาประมง  ทะเลไทยก็วิบัติ ไม่เหลืออะไรเลย ...ในความเป็นจริง ไม่มีวันไหนที่อวนลากไม่เข้ามาลักลอบทำการประมงในเขตหวงห้าม...เจ้าหน้าที่หายไปไหน ทำไมไม่จับ? มิทราบได้

ในวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าสังเกตการณ์ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาการประมงของจังหวัดภูเก็ต นับเป็นครั้งแรกของปีนี้ แต่เป็นครั้งที่ 6 ของการประชุมกรรมการชุดดังกล่าว มีนายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตคนล่าสุดร่วมประชุมด้วย

แม้ว่าประเด็นการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ เพื่อขยายเขตห้ามทำการประมง อวนลาก อวนรุน จาก 3,000 เมตร เพิ่มเป็น 5,400 เมตร จากชายฝั่งตามคำสั่งของกรมประมงนั้น ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ที่ประชุมยังไม่ตกลงเห็นชอบในการขยายเขตจาก 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร แต่ได้มีมติที่ประชุมในส่วนของให้เพิ่มตัวแทนประมง พื้นบ้านเป็นคณะกรรมการฯให้เท่ากับตัวแทนประมงพาณิชย์ คือ ฝ่ายละ 5  คน

แต่ผู้ว่าฯ ภูเก็ต เสนอความคิดว่า “กฎหมายเดิมมีอยู่แล้ว ควรจะดำเนินการตามกฎหมายก่อน เรืออวนลากลำไหนแอบเข้ามาในเขต 3,000 เมตรก็ให้จับ”

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ทั้ง กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงตำรวจและหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จงฟังให้ดีและปฏิบัติตาม!

ในวันนั้น อยากยกมือเพื่อชี้แจงบางประเด็น ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ก็ทราบดีว่า แม้ว่าตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ประมงออกไปจับเรืออวนรุน อวนลากที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขตหวงห้าม 3,000 เมตร แต่ก็มักจะหลุดรอดเพราะช่องโหว่ของกฎหมาย คือการทำสัญญาเช่าเรือ ...หลุดทั้งคน หลุดทั้งเรือ และไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดกับเรือประมงที่ใช้เครื่องมือทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำได้เลย  

ทั้งชาวบ้านและคนจับกุมก็ท้อแท้และเบื่อหน่าย ท่านมีแนวทางแก้ปัญหากับช่องโหว่ดังกล่าวนี้อย่างไร??

ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ภูเก็ต ต้องปลื้มและชื่นชมในตัวท่านผู้ว่าฯ แน่ๆ ถ้าท่านจะออกไปลาดตระเวรตรวจจับเรืออวนลากที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขตหวงห้าม 3,000 เมตร

อยากเรียนให้ท่านฯ ทราบว่า เมื่อปี 2540 พี่น้องเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงาได้สูญเสีย นายอุสัน  มิ่งพิจารณ์ ซึ่งเป็น ทสปช.หมู่บ้านคลองเคียน ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ถูกชาวประมงเรืออวนรุนยิงเสียชีวิตจากการออกลาดตระเวรจับเรืออวนรุนที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงในอ่าวพังงา

จากปีนั้นถึง ปีนี้…12 ปี และพวกเราชาวประมงพื้นบ้านหวังว่าคงจะไม่เกิดเหตุการณ์ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”...

โดย  สุจารี  ไชยบุญ
Andaman Voice ภายใต้องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: