homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

เที่ยวบ้านในหงบ-ควนคา

หนังสือพิมพ์ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 เมษายน 2552

“หมู่บ้านในหงบ” ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อนี้ คิดไปว่า เป็นหมู่บ้านที่เงียบและสงบ

วันที่ได้ไปเยี่ยมเยือน...ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เงียบและสงบ และร่ำรวยน้ำใจ

หมู่บ้านในหงบ - ควนคา เป็นชื่อของหมู่บ้านเดียวแต่มี 2 กลุ่มบ้าน ประกอบด้วยบ้านในหงบและบ้านควนคา ตั้งอยู่หมู่ที่  4  ต.ตากแดด อ.เมือง จ.พังงา เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีจำนวนครัวเรือนไม่เกิน 90 ครัวเรือน

กลุ่มบ้านในหงบ เป็นชุมชนที่อยู่บนฝั่ง ชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวน รับจ้าง ประมงชายฝั่งและเรือรับจ้างท่องเที่ยว

ส่วนกลุ่มบ้านควนคา เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ซ่อนตัวท่ามกลางป่าชายเลน บริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง หากนึกภาพไม่ออก ของให้นึกถึง “เกาะปันหยี” ที่บอกว่า เป็นหมู่บ้านลอยน้ำ  ชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งเป็นอาชีพหลัก และการเดินทางเข้าถึงบ้านควนคาไปได้ทางเดียวคือ “เรือ”

ผู้เฒ่าในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ 3 ของชุมชนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นี่เล่าว่า โต๊ะชาย(ปู่) และโต๊ะหญิง (ย่า) อพยพมาจากเกาะไม้ไผ่ ซึ่งเป็นอีกหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลนัก มาเพื่อมองหาที่ทำกินสร้างหลักฐานให้กับครอบครัว และอยู่กันมาถึงคนรุ่นที่ 3 แล้ว ประมาณเกือบร้อยปี

ส่วนชาวบ้านในกลุ่มบ้านควนคานั้นอพยพมาจากเกาะปันหยี เพราะว่าเกาะปันหยีเป็นชุมชนขนาดเล็ก ไม่มีที่ดิน ดังนั้นการขยับขยายครอบครัวจึงไม่สามารถทำได้ ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงออกเดินทางมองหาทำเลที่ตั้งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ และพบพื้นที่ในปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญพบว่าหมู่บ้านในหงบ – ควนคาเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
เกิดอะไรขึ้นกับหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ??

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 กองอุทยานแห่งชาติ (ในสมัยนั้น) ได้มีมติเห็นชอบกำหนดอ่าวพังงาเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินอ่าวพังงา ในพื้นที่ ต.กระโสม ต.กะไหล ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง ต.เกาะปันหยี อ.เมือง และต.เกาะยาวน้อย ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว อ.เมือง จ.พังงา มีเนื้อที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ ภายใต้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 25 ของประเทศไทย มีความงดงามของทิวทัศน์ ชายฝั่ง และทิวทัศน์เหนือผิวน้ำ อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน ประกอบด้วยเกาะทางด้านทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ตประมาณ 40 เกาะ และเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น เขาพิงกัน เขาตะปู ถ้ำลอด รวมทั้งหาดทรายสวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 250,000 ไร่ หรือ 400 ตารางกิโลเมตร

รวมระยะเวลาการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ 28 ปี ในขณะที่หมู่บ้านในหงบ – ควนคา มีอายุร่วม 100 ปี
พื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ อ่าวพังงามีทั้ง ป่าชายเลน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ...จัดว่า ไม่ธรรมดาทีเดียว! โดยทั่วไปการบริหารจัดการพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ อ่าวพังงา ส่วนใหญ่จะเป็นการบริหารแบบเชิงเดี่ยว หมายถึง มีป่าชายเลน ก็ให้ป่าชายเลนเติบโตด้วยตัวของมันเอง ไม่ยินยอมให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และปราศจากการดูแลป่าชายเลนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งๆ ที่ชุมชนอยู่ อาศัยมาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานฯ

จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในประเด็นปัญหาและทางออกของชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานของ องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน พบว่า ปัญหาร่วม ซึ่งเป็นปัญหาหลัก คือ ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติได้... ไม่สามารถเข้าไปทำการประมงในทะเลที่อยู่ในเขตอุทยานฯ  ไม่แม้แต่เข้าไปเก็บหอยในป่าชายที่อยู่เขตอุทยานฯ  และปัญหาถัดมาคือ การรุกไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่

หมู่บ้านในหงบ – ควนคาเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และแน่นอนว่าต้องประสบกับปัญหาดังกล่าว ทางออกหรือข้อเสนอของชาวบ้านนั้นง่ายมาก คือ ให้ชาวบ้านอยู่และเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อทำกิน ดำรงชีพ ไม่ใช่เพื่อการค้า และที่สำคัญการใช้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการพื้นที่ในเขตอุทยานฯ ย่อมดีกว่าการจ้างคนงานมาเฝ้าอุทยานฯ

คนในชุมชนย่อมดูแลด้วยใจ เพราะพวกเขาตระหนักว่าทรัพยากรมี ก็อยู่คนก็ต้องรอด

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: