homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

“คนจับ (ปู) เปี้ยว (1)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 มิถุนายน 2552

            ส้มตำไทยใส่ปู หรือ จะเป็น ส้มตำปู-ปลาร้า
            เคยสังเกตไหมว่า เรามักจะสั่ง “ส้มตำไทยใส่ปู” ทุกครั้ง ...สั่งไปเพราะเคยชิน หรือ คิดใจในรสชาติของปูเค็มนั้น??

เคยสงสัยไหมว่า เจ้าปูเค็มสีดำตัวเล็กที่เสิร์ฟมาพร้อมกับ “ส้มตำไทยใส่ปู” นั้นมาจากไหน?

            พื้นที่ป่าชายเลนใน จ.พังงา ที่มีมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากจะเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ ป้องกันคลื่นลมและชะลอการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว ในผืนป่าชายเลนยังเป็นพื้นที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน และอีกอาชีพหนึ่ง นั่นก็คือ “คนจับปูเปี้ยว” หรือปูแสม เพื่อนำไปทำ “ปูเค็ม” (ปูดอง) ใส่ส้มตำรสแซ่บ อาหารยอดนิยมของคนทั่วโลก

            ในบ่ายวันหนึ่งแดดอ่อนแรง ผู้คนแวะเวียนมาจับกลุ่มพูดคุยกันที่ร้านน้ำชา เราพบกันคนจับปูเปี้ยวหรือปูแสมแห่งบ้านท่าสนุก

            นายสนทยา  วาหะรักษ์ หรือ บังมุด อายุ 32 ปี เป็นชาวบ้านท่าสนุก ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา  เล่าว่า “เริ่มอาชีพจับปูเปี้ยวมา 10 กว่าปีแล้ว  สามารถจับปูเปี้ยวได้ทุกวัน ถ้าฝนไม่ตก แล้วแต่ความขยันของแต่ละคน การจับปูเปี้ยวเป็นงานกลางคืน หลังจากละหมาดครั้งสุดท้ายในรอบวันนั้นเสร็จแล้ว จะออกไปจับเปี้ยว เวลาตี 8 (20.00 น.) เป็นต้นไป และกลับบ้านเวลาเที่ยงคืนหรือตี 1 ถึง ตี2”

            คนจับปูเปี้ยวจะไม่ออกจับปูเปี้ยวในช่วงฝนตก เพราะ มองไม่เห็นรูปูเปี้ยว และมีงูในป่าชายเลนออกมากินกบหรือเขียด ซึ่งคนจับปูเปี้ยวจะได้รับอันตราย ที่สำคัญคนจับปูเปี้ยวอาจจะป่วย ทำให้เสียเวลาหลายวันในการพักฟื้นให้หายป่วย

            ในทุกคืนที่บังมุดออกไปจับปูเปี้ยวกับเพื่อนๆ อีก 6-7 คน และทุกคนต่างเตรียมในชุดจับปูเปี้ยว อุปกรณ์สำคัญทุกชิ้นที่ขาดไม่ได้ คือ 1.ไฟฉายคาดศีรษะพร้อมแบ๊ตเตอรี่ ที่ชาวสวนยางใช้ในการกรีดยาง  2.หลอดไฟสำรอง ใช้สำหรับเปลี่ยนเผื่อหลอดไฟฉายคาดศีรษะขาด 3.ถุงมือผ้า 4.แกลลอนสำหรับใส่ปู  5. ถุงอวนตาข่ายสำหรับใส่ปู 6.เครื่องดื่มชูกำลังหรือกาแฟ ซึ่งจะช่วยให้ตาสว่างตลอดทั้งคืน

            ส่วนเข็มทิศนั้นคนจับเปี้ยวไม่เคยใช้ เพราะอาศัยความชำนาญในเส้นทาง หากหลงทางในป่าชายเลนขึ้นมาจริงๆ คนจับเปี้ยวบอกว่า จะรอให้ถึงชาวแล้วค่อยหาทางออกจากป่า ส่วนมากไปจับปูเปี้ยวกันเป็นกลุ่มๆ ละ 6-7 คน  บ้างครั้งลงขันค่าน้ำมันคนละ 20 – 30  บาท เป็นค่าน้ำมันเรือเดินทางไปจับปูเปี้ยวป่าชายเลนบริเวณใกล้เคียง

            ใน 1 คืน สามารถจับปูเปี้ยวได้อย่างน้อยที่สุด 4-5 กิโลกรัม และมากที่สุด 15 กิโลกรัม มาพ่อค้าจากบ้านเกาะเคี่ยว ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา (บริเวณใกล้เคียง) เข้ามารับซื้อปูเปี้ยวเพื่อนำไปทำปูเปี้ยวดองในราคากิโลกรัมละ 33 บาท

            เวลากลางวันคนจับเปี้ยวประกอบอาชีพอื่นๆ บ้างก็รับจ้างทั่วไป บ้างก็เป็นชาวประมงพื้นบ้าน บ้างก็เรียนหนังสือ

          จะเห็นว่าอาชีพจับปูเปี้ยว เป็นอาชีพหนึ่งที่ใช้ต้นทุนต่ำ อาศัยความขยันและความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลน คนจับปูเปี้ยวก็สามารถที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้แล้ว 
          มีคนบอกว่า “คนจับปูเปี้ยวเป็นนักอนุรักษ์ป่าชายเลน” 
          คน ปู และป่า มีอะไรข้องเกี่ยวกัน โปรดติดตาม...

โดย  สุจารี  ไชยบุญ  Andaman Voice
ภายใต้องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: