homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

มารีนาแหลมยามู จ.ภูเก็ต สร้างรายได้หรือทำลายสิ่งแวดล้อม?
ไทยโพสต์   8 มิถุนายน 2552

มารีนา หรือ ท่าเทียบเรือสำราญ ในนามของ “เรือยอร์ช”
การสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ทหรูพร้อมกับท่าเรือมารีนาเป็นที่นิยมมากในจังหวัดภูเก็ต
เพื่อตอบโจทย์นโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต ได้จริงหรือ??
ฤาเป็นเพียงแค่การตอบสนองต่อความต้องการของ “คนบางกลุ่ม” เท่านั้น?
มารีนา สร้างรายได้หรือทำลายสิ่งแวดล้อม? เรามาดูกัน...

วิสัยทัศน์การพัฒนา จ.ภูเก็ต ก็คือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นการรองรับแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการใช้ประโยชน์ด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงภาคใต้กับภูมิภาคเอเชียและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการเตรียมการรับยุทธศาสตร์ ด้านพลังงานและ Land Bridge ของรัฐบาล จึงได้กำหนดเป้าประสงค์ในการเตรียมความพร้อมพื้นที่ เพื่อรองรับประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจเอเชียใต้ของยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน (ภูเก็ต  พังงา  กระบี่) 

การสร้าง 1 โรงแรมหรู 1 มารีนา ไม่ได้ทำให้ จ.ภูเก็ตไปสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก ได้เลย เราต้องยอมรับความจริงว่าท่าเทียบเรือมารีนาส่งผลกระทบต่อระบบนิเทศทางทะเล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนใน จ.ภูเก็ต ก็คือ...ชาวบ้านสะปำ ต.แก้ว ในเขตอำเภอเมืองมักจะพูดเล่นๆ ติดตลกว่า คนภูเก็ตไม่กล้ากินปลาที่ได้ จากอ่าวสะปำ (ทะเลบริเวณหมู่บ้านสะปำ) เหตุผล เพราะปลามีกลิ่นน้ำมัน!   

ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ...ต.เกาะแก้วมีท่าเทียบเรือมารีนา 2 แห่ง!

หรืออีกหนึ่งกรณีปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะมีการทำลายทรัพยากรชายฝั่ง คือ การดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีนาขอบริษัท เดอะ ยามู จำกัด มีขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอสส์ และจะต้องขุดลอกพื้นที่ประมาณ 18,000 ลูกบาศก์เมตร บริเวณที่ทำการก่อสร้าง ความลึกเฉลี่ย 1.65 ม. รองรับเรือได้ 39 ลำ จะดำเนินการก่อสร้างที่แหลมยามู ในหมู่บ้านยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โครงการนี้เริ่มจากการก่อสร้างโรงแรมก่อน พร้อมกันนั้นก็ได้เดินเรื่องของอนุญาตโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีนาด้วย

การก่อสร้างโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว พร้อมท่าเรือรองรับลูกค้าของโรงแรมน่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาๆ  ถ้าไม่ใช่เรื่องนี้ ....โรงแรมที่มีเจ้าของเป็นบริษัทร่วมทุนต่างชาติออกเอกสารสิทธิ์ครอบทางสาธารณะ ของชุมชนบ้านยามูที่ใช้เส้นทางนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อเดินทางลงชายหาดทำการประมง หนำซ้ำยังก่อสร้างโรงแรมทับทางสาธารณะของชุมชนอีก

แม้ว่าทางโรงแรมได้สร้างทางสาธารณะให้ใหม่แล้ว แต่กลับสร้างความลำบากให้กับชาวบ้านที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านมากกว่าเดิม นั่นคือ การสร้างทางที่เป็นบันไดจำนวนร้อยกว่าขั้น ทั้งสูงและชัน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่อายุมากไม่สามารถเดินขึ้น-ลงบันไดสูงชันได้ อีกทั้งไม่สะดวกต่อชาวประมงเวลาเดินทางไปทำการประมง  สิ่งที่ชาวบ้านยามูเรียกร้องประการเดียว คือ คืนทางสาธารณะเดิมให้กับชุมชน

ประการที่สอง บริเวณแหลมยามู มีแหล่งหญ้าทะเลผืนหญ้าและเป็นผืนเดียวกับหญ้าทะเล บ้านป่าคลอก ต.ป่าคลอก ซึ่งจะเรียกทะเลบริเวณนี้ว่า “อ่าวป่าคลอก” จากการสำรวจทรัพยากรชายฝั่งบ้านป่าคลอกของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต พบว่าอ่าวป่าคลอกมีทรัพยากรชายฝั่งสมบูรณ์มากที่สุด ทั้งป่าชายเลน หญ้าทะเล และสัตว์น้ำที่หลากหลาย จ.ภูเก็ต มีพื้นที่แนวหญ้าทะเล ทั้งหมด 4,445 ไร่ พบหญ้าทะเล 11 ชนิด ในอ่าวป่าคลอกมีแนวหญ้าทะเล ทั้งหมด 1,780 ไร่  พบหญ้าทะเล 8 ชนิด และโครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ตั้งแต่ปี 2550 แล้ว มีข้อสังเกตว่า โครงการนี้สร้างบนพื้นที่อ่อนไหว เช่น แหล่งหญ้าทะเล แต่กลับผ่านการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น!

ล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ครั้ง 1/2552 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ต (POC)  โดยมีนายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องดำเนินการโดยเฉพาะ การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ให้มีการทำความเข้าใจกับชาวบ้านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและ ไม่เห็นด้วยจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490

ดร.นลินี ทองแถม กรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และนักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กล่าวว่า “ในช่วงที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นขึ้น และมีข้อสรุปที่ให้ดำเนินการแก้ไขจำนวน 13 ประเด็น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตอบกลับมา ดังนั้นควรที่จะนำเอกสารดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย” (จากหนังสือพิมพ์เสียงใต้ ฉบับวันที่ 17 พ.ค.52 )

ข้อสรุปที่ ดร.นลินี ทองแถม ให้ดำเนินการแก้ไขจำนวน 13 ประเด็น ที่สำคัญๆ เช่น 1. ขาดรายละเอียดด้านทรัพยากรประมงสัตว์บนดิน และสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน แนวปะการัง ไม่ได้แสดงข้อมูลเชิงปริมาณ/ชนิดขอบเขตของแนวปะการังและหญ้าทะเล  2. ไม่แสดงพื้นที่และความสัมพันธ์ของระบบนิเวศในบริเวณใกล้เคียง  3.  ไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบริเวณทิ้งตะกอนดิน เอกสารของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี หรือสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาภูเก็ต ไม่ได้อนุญาต (ขาดข้อมูลพื้นฐานปัจจุบันของพื้นที่ที่ทิ้งตะกอน ไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบริเวณที่ทิ้งตะกอน)  4.ขาดข้อมูลการใช้ประโยชน์ทั้งพื้นที่ชายฝั่งและในทะเลของกลุ่ม ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม

นั่นเป็นข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรทางทะเลที่นำมาเป็นตัวอย่างเป็นเพียง 4 ข้อจาก 12 ข้อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ที่ไม่ใส่ใจไม่ใส่ใจเรื่องอื่นใดนอกจากเรื่องโครงการพันล้านของตัวเอง!

ดร.นลินี  ทองแถม เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมื่อปลายปีที่แล้วเกี่ยวกับกรณีการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า “ที่ผ่านมานักวิชาการที่เข้าเป็นคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติต่อโครงการที่จะก่อสร้างในพื้นที่อ่าวพังงาของจังหวัดภูเก็ตนั้น หลายโครงการมีการทำรายงานสิ่งแวดล้อมไม่ถูกต้อง และโครงการที่เกิดขึ้นเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยนายทุนซึ่งมีหุ้นส่วนเป็นชาวต่างประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะระบบนิเวศชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเล และแนวปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งหากินของชาวบ้านริมฝั่งทะเล เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้สู่ประเทศ ซึ่งหากระบบนิเวศเหล่านี้ถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมจะส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชนริมชายฝั่งทะเล

ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณอ่าวพังงา ซึ่งถือเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ในแง่ของผลผลิตทางทะเลอันดามัน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งไม่ว่าจะเป็น ป่าชายเลน หญ้าทะเล และแนวปะการัง กำลังถูกคุกคามโดยการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งในรูปของการเปิดที่ดินเพื่อสร้างบ้านจัดสรรระดับหรู การสร้างท่าเรือยอร์ชส่วนตัวสำหรับผู้พักอาศัย” (จากหนังสือพิมพ์เสียงใต้ ฉบับวันที่ 2 พ.ย.51)

แม้แต่ ท่านผอ.วรรณเกียรติ  ทับทิมแสง  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรและพัฒนาชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กล่าวในคอลัมน์ รู้เขา รู้เรา ว่า “….อีกอย่างการพัฒนามารีนามากก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างขยะในทะเล ภูเก็ตนี่เยอะมาก กลายเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเยอะ ไม่เหมือนนโยบายทางด้านตรัง สตูล กระบี่ พังงา เน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์...” (หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 11 เม.ย.52)

ในความเป็นจริงเราไม่สามารถต้านกระแสการพัฒนาไปสู่ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน” ได้  ไม่มีใครปฏิเสธการพัฒนา ถ้าจะเป็นการพัฒนาอย่างมีทิศทาง

ปราฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้น กลับพบว่า การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนไม่สามารถยืนเคียงคู่ไปกับท่าเทียบเรือสำราญได้  นั่นย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่าทาง จ.ภูเก็ตต้องเร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดการพื้นที่ในเมืองภูเก็ต เพื่อเป็นการป้องกันทรัพยากรชายฝั่งที่สำคัญไม่ให้ถูกทำลายจากนโยบายการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ ในเวลานี้ ไม่มีการจัดทำผังเมืองหรือการทำโซนนิ่ง การดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมหรูพร้อมท่าเทียบเรือสำราญทำได้ตามใจชอบ...ตรงไหนก็ได้  เพียงแค่ขยิบตานิดเดียวทางก็สะดวก!! ท้ายที่สุดของเรื่องนี้ ผลที่ได้รับผลกระทบก็คือชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็ลอยตัว

เมื่อการก่อสร้างมารีนาบนแหล่งทรัพยากรที่ประเมินค่ามิได้อย่างแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอล  คำถามก็คือ…

มารีนาสามารถตอบโจทย์นโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต ได้จริงหรือ??
ฤาเป็นเพียงแค่การตอบสนองต่อความต้องการของ “คนบางกลุ่ม” เท่านั้น
และมารีนาสร้างรายได้หรือทำลายสิ่งแวดล้อมกันแน่...

ผู้เขียน  ขุณิกากรณ์ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: