homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

หมูน้ำกำลังจะสูญพันธ์

กวินทรา  ใจซื่อ 

“ชาวบ้านออกไปหาหอย หาปลา ที่หน้าหาด มักจะได้เห็นร่องรอยสัตว์น้ำทั้งเต่ามะเฟือง เต่าตนุ และพะยูน   เข้ามาหากินที่อ่าวป่าคลอก  ก็หญ้าทะเลอาหารหลักสำคัญอยู่ที่นี่  ก็ต้องเข้ามาหากินที่นี่”        น้าเหมีย   ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์บ้านป่าคลอกเล่าให้ฟัง

อ่าวป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในวันนี้ ยังคงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน แนวหญ้าทะเล และแนวปะการัง เป็นแหล่งหากิน  สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในต.ป่าคลอกและพื้นที่ใกล้เคียง        ทุกๆปีพื้นที่อ่าวป่าคลอกจะมีโอกาสได้ต้อนรับสัตว์น้ำ หายากที่เข้ามาหากิน  เช่น เต่าทะเล  โลมา และพะยูนหรือหมูน้ำ  ถึงแม้ว่าพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพในภูเก็ตมีแนวโน้มถูกคุกคามจากการพัฒนาเพิ่มขึ้น  ทำให้จำนวนสัตว์น้ำที่พบเห็นลดน้อยลงไปทุกปี  และทุกครั้งที่พบเห็นส่วนใหญ่มักจะเห็นสัตว์น้ำที่ตายแล้วแทบทั้งสิ้น  

เหมือนเช่นเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2550  มีชาวบ้านพบเห็นพะยูนเข้ามาหากินหญ้าทะเลในอ่าวป่าคลอกทางด้านปากคลองบางทราย บ้านผักฉีด-แหลมยามู   แต่น่าเสียดายที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสได้เห็นพะยูนที่ยังมีชีวิตอยู่  !!!   

พะยูนเพศเมียตัวนี้  มีอายุประมาณ 3-5  ปี  หนักประมาณ 130-150 กิโลกรัม  มีชาวบ้านพบเห็นว่านอนตายอยู่ภายในโป๊ะน้ำตื้น  คาดว่าพะยูนตัวนี้กินหญ้าทะเลเพลินจนหลงติดเข้าไปในโป๊ะ เมื่อน้ำทะเลลดก็ไม่สามารถว่ายออกมาจากโป๊ะได้ ทำให้พะยูนตายในที่สุด

โป๊ะน้ำตื้นหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหลาดหรือมุ(ละมุ)เป็นโป๊ะขนาดเล็กตั้งอยู่ในบริเวณชายฝั่ง หรือในคลองเขตน้ำขึ้นน้ำลง  เครื่องมือประมงอีกประเภทหนึ่งที่ทำอันตรายต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์น้ำหายากที่เข้ามาหากินบริเวณอ่าวป่าคลอก  จากการบอกเล่าของชาวบ้านทราบว่า เครื่องมือประมง เช่น โป๊ะน้ำตื้น อวนถ่วงปลากะพง   เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์น้ำหายาก ตายมาเป็นจำนวนมากแล้ว  ทางแก้ปัญหาที่จะรักษาชีวิตสัตว์น้ำเหล่านี้ได้คือเลิกใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายเหล่านั้นเสีย

พะยูนหรือหมูน้ำ จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งใน 15 ชนิดของประเทศไทย และอนุสัญญา CITES   เป็นสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับโลมาและปลาวาฬ  ส่วนใหญ่พะยูนจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัว ออกหากินรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ไม่มีฤดูกาลสืบพันธุ์ที่แน่นอน  ใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 12-13 เดือน  ออกลูกครั้งละ 1 ตัว แต่ก็มีบางครั้งที่ออกเป็นลูกแฝด  ลูกพะยูนจะอยู่กับแม่เพื่อกินนมเป็นเวลา 2 ปี จึงหย่านม ตัวโตเต็มที่มีอายุประมาณ 13-14 ปี  ตลอดช่วงอายุของพะยูนเพศเมียซึ่งยืนยาวกว่า 50-55 ปี นั้นสามารถให้ลูกได้เพียง 5-6  ตัว  จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พะยูนใกล้สูญพันธุ์

พะยูนชอบอาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลน้ำขุ่น ที่สงบปราศจากคลื่นลมรุนแรง     ระดับน้ำค่อนข้างตื้นประมาณ 1-12 เมตร   พะยูนจัดเป็นสัตว์กินพืช   มันใช้หญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก ซึ่งในพื้นที่อ่าวป่าคลอกพบว่ามีหญ้าทะเลทั้งสิ้น 4 ชนิด ได้แก่ หญ้าคาทะเล ,หญ้าใบมะกรูด ,หญ้าชะเงาใบมนและหญ้าชะเงาใบเลื่อย   พะยูนออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืนวันละ 15-20 ชั่วโมง กินหญ้าทะเลประมาณ 25-30 กิโลกรัมต่อตัว/วัน

สาเหตุที่ทำให้พะยูนมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าหมูน้ำนั้น เกิดจากพฤติกรรมการกินหญ้าทะเล  คือพะยูนจะใช้ริมฝีปากที่หนาและแข็งแรงของมันดุนกินลำต้นหรือหัวของหญ้าทะเลซึ่งฝังอยู่ใต้พื้นทราย เช่นเดียวกับการ ขุด ดุน หาอาหารของหมู จึงทำให้พะยูนได้อีกชื่อหนึ่งว่า "หมูน้ำ"

ปัจจุบันในประเทศไทยทั้งในบริเวณอ่าวไทย และชายฝั่งทะเลอันดามัน     พบเห็นตัวพะยูนไม่บ่อยนัก  จำนวนประชากรของพะยูน ในถิ่นกำเนิดทุกแห่งลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว จนน่าวิตกว่าจะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้           

นอกจากนี้การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ยังเป็นตัวเร่งที่จะทำให้พะยูนสูญพันธุ์เร็วยิ่งขึ้น  เพราะพะยูนกินแต่หญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก  แต่กลับพบว่าปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเล ถูกทำลายลงด้วยการโครงการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น การก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือมารีน่า  เป็นต้น

ลูกทะเลถูกสอนให้รักษาทะเล เพราะทะเลคือชีวิต ที่ไม่ใช่เฉพาะชีวิตคนเท่านั้น  แต่รวมถึงชีวิตของสัตว์น้ำที่ได้อาศัยทะเลเป็นแหล่งหาอยู่หากินเช่นเดียวกัน  หากกระแสของการพัฒนายังคงมาแรง หลายฝ่ายไม่ได้ให้ความสนใจในการดูแลทะเลอย่างจริงจังแล้ว อนาคตอีกไม่นานในทะเลก็คงจะไม่เหลือสิ่งใดไว้ให้ลูกหลานแน่นอน

แหล่งที่มาของข้อมูล

  1. หนังสือรักษ์พะยูน จัดทำโดยส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้
  2.  มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ

ภาพโดย 
เยาวชนโรงเรียนรอบอ่าวป่าคลอก โรงเรียนวีระสตรีอนุสรณ์  และอาจารย์มานะ  สามเมือง
มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: