สถาบันการเงินชุมชน
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 กรกฎาคม 2552
ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้หลายคนออมเงินและใช้บริการธนาคารเป็นส่วนมาก แต่สำหรับชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ห่างไกลเดินทางเข้าเมืองไม่สะดวก การคิดจัดตั้ง กลุ่มออมทรัพย์ จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับคนรากหญ้า
พบว่าในหลายพื้นที่ทั่วประเทศมีการจัดตั้งสถาบันการเงินของชุมชนแบบไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ กลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ หรือกองทุนหมุนเวียนต่างๆ โดยมีหลักการบริหารจัดการที่สำคัญคือ กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชน มีวัตถุประสงค์หลัก
ประการแรกเพื่อให้เกิดการหนุนช่วยซึ่งกันและกัน หมายถึงการหนุนช่วยระหว่างสมาชิกภายในชุมชน ซึ่งโดยพื้นฐานของชุมชนต่างจังหวัดจะมีการเกื้อหนุนและเอื้อเฟื้อต่อกัน แต่การไหลบ่าของวัฒนธรรมเมืองและ ระบบทุนนิยมได้แทรกซึมเข้าไปในหมู่บ้านผ่านสื่อโทรทัศน์หรือกระแสแฟชั่นของวัยรุ่น ส่งผลให้ความเอื้อเฟื้อเกื้อกุลกันจางหายไป
ประการที่สองเป็นการลดภาระการเป็นหนี้นอกระบบ การกู้เงินนอกระบบที่คิดดอกเบี้ยแพง เท่ากับเป็นการเอารัดเอาเปรียบคนจน ซึ่งคนที่จนอยู่แล้วกลายเป็นคนจนซ้ำซ้อน
ประการที่สามเป็นแหล่งเงินทุนชุมชนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ สมาชิกสามารถกู้เงินกลุ่มกองทุนหรือกลุ่มออมทรัพย์เพื่อไปเป็นทุนในการประกอบอาชีพ แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่สำหรับคนรายได้น้อยแล้วถือว่าเป็นเงินจำนวนมาก
ประการที่สี่เป็นการส่งเสริมให้เกิดกองทุนหมุนเวียนภายในชุมชน ซึ่งเงินที่อยู่ในสถาบันการเงินของชุมชนจะหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันภายในชุมชน ดอกผลที่เกิดขึ้นกลับมาหมุนเวียนภายในกลุ่ม เงินจะไม่ถูกนำไปหมุนเวียนในระบบทุนขนาดใหญ่
ประการสุดท้าย ที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการจัดระบบสวัสดิการของกระบวนการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และนำไปฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้ชุมชนสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการพึ่งพาตนเองสร้างความเข้มแข็งต่อองค์กรชุมชน
การจัดตั้งกลุ่มกองทุนหมุนเวียน หรือกลุ่มออมทรัพย์ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือสำหรับกระบวนการพึ่งพาตนเองของชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่สมาชิกนำเงินมาฝากกลุ่มออมทรัพย์ คณะทำงานฝ่ายบริหารจัดการกลุ่มเกิดจากการปรึกษาหารือและเลือกตั้งจากสมาชิก การจัดระบบสวัสดิการของสมาชิกเกิดจากการประชุมหารือกันภายในสมาชิก
จะเห็นได้ว่าทุกกระบวนการนับตั้งแต่คิดริเริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ตลอดจน การบริหารจัดการกลุ่มล้วนเป็นเรื่องของสมาชิกทุกคน
เหตุผลหลักๆ ที่กลุ่มออมทรัพย์และกลุ่มกองทุนหมุนเวียนในชุมชนที่เกิดจากการลงขันของชาวบ้านดำรงอยู่ได้นาน และมีความเข้มแข็งได้นั้น เป็นเพราะว่า สมาชิกทุกความมีความเป็นเจ้าของกลุ่ม และทุกคนสามารถตรวจสอบการทำงานของกลุ่มได้การดำเนินงานเป็นไปอย่างโปร่งใส
โดย สุจารี ไชยบุญ
Andaman Voice ภายใต้องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |