homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

กุ้งกะปิ…กะปิที่ได้จากกุ้งเคย (จบ)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 สิงหาคม 2552

            แม้ว่าจะไม่ได้ “เคย” มากพอที่จะนำไปทำกะปิ แต่ก็มากพอสำหรับอาหารมื้อเที่ยงของเราและเพื่อนๆ ในใจคิดว่าจะเอาไปใส่ไข่เจียวน่าจะอร่อย แต่จ๊ะเซียะแนะนำว่าเอาไปผสมแป้งแล้วทอด...อร่อยกว่า
ดวงอาทิตย์ส่องแสงสีส้มโผล่พ้นแนวป่าชายเลนกระทบผิวน้ำเป็นประกายระยิบ
เป็นความงามที่หาดูได้ยาก

ดวงอาทิตย์ขึ้นผ่านแนวตึกสูงในยามเช้าเป็นภาพที่เห็นจนชินตา อยากจะปฏิเสธมัน แล้วแสวงหาภาพและบรรยากาศที่งดงามกว่านั้น แต่เพราะนั่นเป็นความด้อยโอกาสของคนในเมือง ที่ยอมจำนนอยู่ในความศิวิไลซ์

            ก่อนแจวเรือกลับวางอวนปลากระบอก 3 ครั้ง ได้ปลากระบอกขนาดกลางไม่กี่ตัว ส่วนปลากระบอกตัวใหญ่ที่ติดอวนแล้ว กำลังจะสาวอวนมาปลด แต่ปลาดันดิ้นหลุดไปต่อหน้าต่อตา!!

            จ๊ะเซียะบอกว่า “ไม่เป็นไร วันนี้น้ำไม่เดิน” หมายถึง เวลาเห็นฝูงปลากระบอก กะระยะการปล่อยอวนปลากระบอกเพื่อให้น้ำทะเลไหลพาอวนลอยไปหาฝูงปลา  วันนี้น้ำไม่เดินก็คือน้ำทะเลไม่ไหล หยุดนิ่งๆ เรามองเห็นฝูงปลากระบอกกระโดดเล่นน้ำ ราวกับว่ามันจะเยาะเย้ยเรา แต่มีอีกวิธีการหนึ่งก็คือ วางอวนล้อมฝูงปลากระบอก แต่จ๊ะเซียะไม่ทำเพราะจะทำให้เศษใบไม้ กิ่งไม้เข้ามาติดอวน  “...ช่างเถอะ ถือว่าเป็นวันของมัน”

            ขากลับจ๊ะเซียะแจวเรือโดยใช้เส้นทางลัด เป็นลำคลองน้ำเค็มที่ขนาบด้วยป่าชายเลนหนาทึบ แสงแดดเริ่มร้อน แต่กลับเรารู้สึกเย็นอย่างประหลาด อาจเป็นเพราะแจวเรือลัดเลาะตามแนวชายฝั่งของป่าชายเลน ความร่มรื่นของป่าชายเลนช่วยบรรเทาความร้อนแรงของแสงแดดได้มากทีเดียว

หมู่บ้านในหงบ-ควนคาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 รวมระยะเวลาการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ 28 ปี ในขณะที่หมู่บ้านในหงบ – ควนคา มีอายุมากกว่านั้น!  และนั้นก็หมายความว่าป่าชายเลนที่บ้านในหงบ-ควนคา ก็อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาด้วยเช่นกัน แต่ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ล้วนตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลน มีแต่กิจกรรมปลูกป่าชายเลนไม่มีการตัดเพื่อขายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ อ่าวพังงา ไม่ยินยอมที่จะให้ใครเข้ามาลักลอบตัดไม้ในป่าชายเลน  เช่น เมื่อต้นปีมีการจัดค่ายเยาวชนและร่วมกันปลูกป่าชายเลนและรองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาเดินทางมาเปิดงาน และทำพิธีมอบป้ายป่าชายเลนชุมชนให้แก่ชาวบ้านในหงบ-ควนคา หรือการเพาะพันธุ์กล้าไม้ชายเลน และในเดือนสิงหาคมนี้บริษัทเอกชนใน จ.พังงาจะจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลนร่วมกับชาวบ้านในหงบ-ควนคา  เป็นต้น

แต่ต้องยอมรับว่า อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงามีพื้นที่มากถึง 250,000 ไร่ หรือ 400 ตารางกิโลเมตร โดยประมาณ แต่มีเจ้าหน้าที่จำนวนไม่มากนัก การดูแลย่อมไม่ทั่วถึง ดังนั้นการที่ชาวบ้านในหงบ-ควนคาเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องเฝ้าระวังป่าชายเลนผืนนี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เป็นอย่างดี

            จ๊ะเซียะแจวเรือถึงสะพานเทียบเรือบ้านในหงบแล้ว เราเดินขึ้นฝั่งพร้อม “กุ้งเคย” และปลากระบอก อาหารมื้อเที่ยง เราหันกลับไปดูเรือแจวลำนั้น

...เรือแจวลำเล็กๆ ที่พาเราไปลัดเลาะริมแนวป่าชายเลน เรือที่ปราศจากเครื่องยนต์ เครื่องมือประมงล้วนเป็นเครื่องมือที่ไม่ทำลายสัตว์น้ำ  เพราะภูมิปัญญาชาวบ้านการใช้เครื่องมือออกแบบมาเพื่อทำประมงได้สัตว์น้ำเฉพาะอย่าง อยากกินปลาก็ใช้อวนปลา อยากได้ปูก็ใช้อวนปู อยากได้กุ้งก็ใช้อวนกุ้ง

และทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ...การดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งของชุมชนเพื่อชุมชน และโดยชุมชน

            แม้ว่าจะได้กุ้งเคยเพียงนิดเดียว  จ๊ะเซียะบอกว่า ก็ไม่เป็นไร คิดเสียว่ามาแจวเรือเล่นให้สบายใจ
            ...เพราะตราบใดที่ป่าชายเลนยังอยู่ วันพรุ่งนี้ ก็ต้องได้ “เคย” แน่นอน

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: