ทำไมต้องฟื้นอ่าวป่าคลอก? (1)
หนังสือพิมพ์ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-31 ตุลาคม 2552
เดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่ทุกหน่วยงานพร้อมใจกันจัดกิจกรรมเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหามหาราชินี ที่ ต.ป่าคลอกเป็นหนึ่งแห่งที่จัดงานปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและเสวนาเรื่องการฟื้นฟูสัตว์น้ำในพื้นที่ป่าคลอกให้ยั่งยืนได้อย่างไร ที่บริเวณชายฝั่งทะเลหน้าโรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา งานนี้สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพ และหน่วยงานกรร่วมประกอบด้วยองค์การบริหารส่วน จ.ภูเก็ต องค์การบริหารส่วน ต.ป่าคลอกและศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต
สัตว์น้ำที่ปล่อย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ งบประมาณตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พันธุ์กุ้งกุลาดำ จำนวน 1,800,000 ตัว พันธุ์ปูดำ จำนวน 600 ก.ก. พันธุ์ปลากะพงขาว จำนวน 20,000 ตัว พันธุ์ปลากะรัง จำนวน 3,000 ตัว และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ตเป็นพันธุ์กุ้งแชบ๊วย จำนวน 1,000,000 ตัว
ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ปล่อยกุ้ง ปูดำ ปลากี่แสนตัว! หัวใจสำคัญคือเรื่อง จะฟื้นฟูและจัดการอ่าวป่าคลอกได้อย่างไรท่ามกลางกระแสทุนนิยมโหมกระหน่ำเช่นนี้?? ซึ่งความหมายไม่ได้แต่จากหัวข้อการเสวนา เพียงเป็นการขยายความจากหัวข้อการเสวนาให้ชัดเจนขึ้น
ถ้าดูตามแผนที่ ต.ป่าคลอกตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไล่ลงมาถึงทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต แม้จะมีระยะทางไม่มาก แต่ทรัพยากรที่อยู่ใน ต.ป่าคลอกถือว่าไม่ธรรมดา เรามักท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทองว่า อ่าวป่าคลอกมีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ประมาณ 1,800 ไร่ มีหญ้าทะเล 8 ชนิด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนและเป็นอาหารของพะยูน ประโยคเหล่านี้ท่องจำขึ้นใจ แต่เชื่อแน่ว่าใน 10 คนที่ท่องจำเรื่องหญ้าทะเล มีไม่ถึง4 คน มีโอกาสลงไปสัมผัสและเข้าใจความสำคัญของแหล่งหญ้าทะเลอย่างลึกซึ้ง
กลับมาที่ต.ป่าคลอกอีกครั้ง ลองขยายแผนที่ในพื้นที่ ต.ป่าคลอก จะเห็นรายละเอียดลึกลงไปอีกว่า ต.ป่าคลอกประกอบไปด้วย 5 อ่าวย่อยๆ ไล่เรียงมาจากตอนเหนือของตำบล 1.อ่าวกุ้ง-พารา 2.อ่าวย่างกบ 3.อ่าวปอ 4.อ่าวป่าคลอก 5.อ่าวผักฉีด-บางลา แต่อ่าวที่มีทรัพยากรชายฝั่งค่อนข้างสมบูรณ์คือ อ่าวป่าคลอก นอกจากหมู่ที่ 2 บ้านป่าคลอกที่อยู่ติดริมชายฝั่งแล้ว ยังมีหมู่ที่ 1 บ้านผักฉีด หมู่ที่ 3 บ้านบางโรง และหมู่ที่ 7 บ้านยามู ที่บอกว่าอ่าป่าคลอกมีความสมบูรณ์ เพราะชาวบ้านและสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนพบร่องรอยการเข้ามากินหญ้าทะเลของพะยูนบ่อยๆ นี่จึงกล่าวได้ว่า อ่าวป่าคลอมีความอุดมสมบูรณ์
จริงอยู่ที่เกาะภูเก็ตเป็นเกาะท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ เน้นปริมาณ (คุณภาพตามมาทีหลัง) จริงอยู่ที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวทะเลภูเก็ตอาจจะไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า นอนอาบแดดชมทะเล ลงเล่นน้ำบ้างนิดหน่อย ไม่ปรารถนาจะดำน้ำ หากจะดำน้ำก็จะต้องไปกระบี่หรือพังงา
แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการท่องเที่ยว ขายบรรยากาศชายหาด เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ ...อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะอยู่ไม่ได้จริงๆ การขายเรื่องการท่องเที่ยวต้องพิจารณาทุกบริบทของการท่องเที่ยว เรื่องพื้นฐานที่สุดก็คือ การอยู่และการกิน มีที่พักระดับห้าดาวแล้ว แต่เจออาหารแย่ๆ คงทำให้เกาะภูเก็ตเสียชื่อเป็นแน่
แล้ว ต.ป่าคลอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา ส่งผลและสำคัญอย่างไรกับคนภูเก็ตและผู้มาเยือน??
ต้องตามต่อฉบับหน้า....
สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |