homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ทำไมต้องฟื้นอ่าวป่าคลอก? (จบ)
หนังสือพิมพ์ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 กันยายน 2552

แม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูฝนภูเก็ตก็มิเคยขาดผู้มาเยือนที่เราเรียกพวกเขาว่า “นักท่องเที่ยว”
จากฉบับที่แล้วเราพูดถึงเรื่อง “จะฟื้นฟูและจัดการอ่าวป่าคลอกได้อย่างไรท่ามกลางกระแสทุนนิยมโหมกระหน่ำเช่นนี้??”   

จริงอยู่ที่เกาะภูเก็ตเป็นเกาะท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการท่องเที่ยวที่ “ขายบรรยากาศชายหาด” เช่นภูเก็ตก็จะอยู่ไม่ได้ การขายเรื่องท่องเที่ยวต้องพิจารณาทุกบริบทของการท่องเที่ยว เรื่องพื้นฐานที่สุดก็คือ การอยู่และการกิน  มีที่พักจะระดับกี่ดาวก็แล้วแต่..  แต่ถ้าเจออาหารทะเลเน่าๆ ก็คงแย่ๆ นั่นทำให้เกาะภูเก็ตเสียชื่อแน่นอน

ฉะนั้นอาหารทะเลสดๆ จึงมาพร้อมกับการท่องเที่ยวทางทะเล
เคยสงสัยไหมว่ากุ้งแชบ๊วยสดๆ ตัวใหญ่  ปูม้าตัวโตก้ามยาวเก้งก้าง หรือปลาสดๆ ตัวใหญ่เหล่านี้ได้มาจากไหน? ได้มาด้วยวิธีใด?

คำตอบก็คือง่ายๆ คือ “มาจากทะเล” แต่ใครเป็นผู้หาและทะเลแห่งใดที่จะสมบูรณ์พร้อมมีทุกอย่างที่ผู้บริโภคต้องการ

ตอบอีกครั้ง ก็คือ “ทะเลอ่าวพังงา” ต.ป่าคลอกเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์มีทั้งหญ้าทะเล ป่าชายเลน ที่สำคัญมีองค์กรชุมชนที่จะดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ในส่วน จ.พังงาและกระบี่มีสภาพพื้นที่คล้ายๆ กัน ดังนั้นความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาจึงไม่หนีไปไหน

แต่สิ่งสำคัญที่ให้ทะเลอ่าวพังงามีทรัพยากรสัตว์น้ำที่ความสมบูรณ์ คือ “มนุษย์”
“มนุษย์” เป็นผู้ปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากร...เป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม
และ “มนุษย์” นี้อีกเช่นกันที่คอยจ้องแสวงหาผลประโยชน์ ตักตวงทรัพยากรอย่างล้างผลาญ และเป็นคนกลุ่มใหญ่เสียด้วย

คนกลุ่มน้อยของสังคมนี้เองที่มีอาชีพเป็นชาวประมงพื้นบ้านที่ทำประมงด้วยเครื่องมือ ที่ไม่ทำลายทรัพยากรและรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ...และนั่นจึงเป็นที่มาของอาหารทะเลสดๆ ที่อยู่ในจานของท่าน

สุทา ประธีป ณ ถลาง ประธานเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวฉลองกล่าวในเวทีเสวนา งานปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เรื่องการฟื้นฟูสัตว์น้ำในพื้นที่ป่าคลอกให้ยั่งยืนได้อย่างไร ว่า การฟื้นฟูสัตว์น้ำในพื้นที่ป่าคลอกนั้น ชาวป่าคลอกไม่สามารถทำได้โดยลำพัง 

ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาดูถูกองค์กรชุมชนบ้านป่าคลอก แต่ต้องการจะบอกว่า การฟื้นฟูและดูแลรักษาทรัพยากรบ้านป่าคลอกเป็นหน้าที่ของคนทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนป่าคลอกแต่เพียงกลุ่มเดียว ประเด็นก็คือ ต้องประกาศให้การพัฒนาพื้นที่อ่าวป่าคลอกอย่างยั่งยืนเป็นวาระสำคัญของจังหวัดภูเก็ต และต้องประกาศให้เป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร

จากความสมบูรณ์อันสำคัญนี้เองที่ทำให้พื้นที่ฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ตหรืออ่าวพังงาถือได้ว่าเป็น “Seafood bank” เป็นแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงหลากหลายชีวิตของเกาะภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง  ด้วยความที่พื้นที่อ่าวป่าคลอกเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญ จึงพื้นที่อ่อนไหวและไม่เหมาะสมที่จะให้มีโครงการพัฒนาต่างๆ และสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่ เช่น ท่าเทียบเรือมารีนา  รีสอร์ท  บ้านจัดสรร

ปัจจุบันอ่าวป่าคลอกเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่มีแนวโน้มนำไปสู่การทำลายทรัพยากรชายฝั่ง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “Seafood bank” แหล่งอาหารทะเลสดๆ รสเลิศของนักท่องเที่ยวแห่งเกาะภูเก็ต

หากปล่อยให้มีสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวขยายตัวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด โดยปราศจากแผนพัฒนาอ่าวป่าคลอกอย่างจริงจังแล้ว

ในวันหนึ่งเกาะภูเก็ตคงขายการท่องเที่ยวได้แค่การนอนอาบแดด โดยปราศจากอาหารทะเลสดๆ อีกต่อไป เพราะเราได้ทำลาย “Seafood bank” ด้วยมือของเราไปแล้ว...เมื่อไม่นานมานี้เอง

สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: