homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

การเดินทางของความรัก

หนังสือพิมพ์ภูเก็ตโพสต์   ฉบับวันที่ 16-30 กันยายน 2552

            อยากรู้จังว่าวัยรุ่นสมัยนี้อ่านหนังสือเล่มกันบ้างไหม? มีนักเขียนในดวงใจกันบ้างหรือเปล่า?
            อยากรู้ว่า เวลาที่พวกเขาและเธอยืนอยู่ในแผ่นดินอันศิวิไลซ์ เช่น ภูเก็ต จะคิดถึงบ้านเกิดบ้างไหม?

เป็นความสงสัยใคร่รู้มานานนัก เพราะยุคนี้เป็นยุคของโลกไซเบอร์อะไรๆ ก็สามารถหาอ่านจากอินเทอร์เน็ตได้ตามที่ต้องการ บางเวลาอาจจะให้เราหลงเตลิดไปกับโลกที่เราไม่เคยพบและลืม “อะไรๆ” หลายๆ อย่างที่อยู่ข้างหลัง

ยามบ่ายของวันที่อากาศดีที่สุด เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฉันไปร่วมชมงานแสดงภาพถ่ายของรงค์ วงษ์สวรรค์และธวัชชัย พัฒนาภรณ์ และฟังการเสวนาสะพานข้ามยุคสมัยของรงค์ วงษ์สวรรค์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มีนักเขียนร่วมวงเสวนา วันเสาร์ เชิงศรี  วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ช่างภาพที่ร่วมแสดงงาน 
ในห้องเต็มไปด้วยนักศึกษา บ้างก็ถ่ายภาพ บ้างก็นั่งฟังอย่างตั้งใจ บ้างก็แวะเวียนมาดูเครื่องอัดเสียง ได้ยินว่าต้องเขียนข่าวส่งอาจารย์ ...แน่นอนว่านักศึกษาเหล่านี้คงมิได้เข้าฟังการเสวนาเพราะปลื้นนักเขียนหรือช่างภาพคนใดเป็นแน่ ...หากแต่ต้องเขียนข่าวส่งอาจารย์

            ฉันมองหน้านักศึกษาหนุ่มสาวเหล่านี้นึกอยากจะถามว่า “น้องรู้จัก รงค์ วงษ์สวรรค์” ผู้ล่วงลับไปแล้วหรือไม่? รึเอาง่ายๆ นักเขียนหนุ่มที่ร่วมเสวนาด้วยเจ้าของผลงานเรื่อง ทางโลก หรือ โลกของเราขาวไม่เท่ากัน หรือ ในที่เกิดเหตุ...น้องรู้จักเขาไหม?

ฉันคิดว่าควรจะทิ้งคำถามนั้น เพราะกลัวคำตอบที่จะได้รับกลับมามากกว่า
เมื่อเสร็จงานเสวนาที่เป็นทางการแล้ว พวกเราอันประกอบด้วยกลุ่มเพื่อนอาจารย์ นักเขียนและช่างภาพหนุ่มไปเสวนาต่อรอบนอกเรื่อง “คุยเรื่อยเปื่อย” คุยกันทุกเรื่องแต่หนักมาทางวัยรุ่น ทั้งเพื่ออาจารย์ นักเขียนและช่างภาพหนุ่มรู้สึกไม่ต่างกันว่าวัยรุ่ยสมัยนี้อ่านเรื่องราวจากหน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่าหนังสือ และสนใจเรื่องรายล้อมรอบตัวน้อยกว่าเรื่องของตัวเอง

            ใช่! ทุกคนยอมสนใจเรื่องของตัวเป็นหลัก แต่มุมมองทางสังคม หรือ มองให้พ้นจาก “หัวแม่ตีน” ของตัวเองนั้นแทบจะไม่มี

            ในขณะที่เพื่อนๆ กับเฮฮากับมุขตลก เรื่องราวขำขันและอาหารมื้อเย็นอยู่นั้น ฉันกลับคิดถึงเยาวชนในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านย่าหมี อ.เกาะยาว บ้านท่าสนุก อ.ทับปุด บ้านในหงบ-ควนคา อ.เมือง จ.พังงา หรือ บ้านป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หมู่บ้านเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ฉันได้รู้จักกับเยาวชนที่เป็นลูกหลานแกนนำ-ผู้นำชาวบ้านที่ร่วมกิจกรรมฟื้นฟู ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และเยาวชนเหล่านี้เป็นกำลังเสริมอันสำคัญในอนาคต

            ภาพใบหน้าร่าเริงแจ่มใส สวยงามของนักศึกษาหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยแล้วทำให้ฉันคิดถึง “บิว” หรือ สวัสดิ์  ถิ่นเกาะยาว บิวผ่านวัยเบญจเพสที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยใด แต่มีจิตวิญญาณและความรักบ้านย่าหมี ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด

 “ตัวเองคลุกคลีกับเรื่องอนุรักษ์และญาติพี่น้องเป็นแกนนำผลักดันงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน
ตัวเองได้ซึมซับบรรยากาศแบบนี้มาตลอด พอมีโอกาสเข้ามาร่วมเกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์ทำให้เกิดมุมมองต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไปทำให้เราพัฒนาตัวเอง กล้าที่จะแสดงออกในวงพูดคุย เราได้ซึมซับมาเรื่อยๆ  ในเมื่อก่อน จิตใจไม่ได้ถูกเชื้อเชิญเข้ามามีส่วนร่วมในงานนี้ซักเท่าไหร่  บรรยากาศในพื้นที่ก็พาไปด้วย”

            การศึกษาไม่ได้หล่อหลอมให้เยาวชนมีความรักในถิ่นเกิด หากกลับทำหน้าที่สะลายจิตวิญญาณนั้นเสีย ... “จิตสำนึก” ต่างหากที่จะนำพาความรักและจิตวิญญาณเดินทางไปสู่บ้านเกิดให้รู้จักตระหนัก การปกป้อง และรักษาทรัพยากรในบ้านของตนเอง

บิว เป็นเพียงตัวแทนหนึ่งในอีกหลายคนของเยาวชนในชุมชนที่รักบ้านเกิดของตนเอง... แต่ก็เป็นเพียงวัยรุ่นจำนวนเพียงแค่หยิบมือหากเทียบกับประชากรวัยรุ่นส่วนใหญ่สังคม

ในห้วงคำนึงของฉันเพียงแว๊บเดียวก่อนที่รวบช้อนในจานกับอาหารมื้อสุดท้ายของวันนั้น...  
...เมื่อไหร่หนอ เด็กๆ สมัยนี้จะมองให้ไกลพ้นจากหัวแม่ตีนของตัวเองซะที!  

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: