ขุดทรายตะกั่วป่าใครได้ประโยชน์? คำถามของชาวบ้านที่ยังรอคำตอบ
โดย เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำตะกั่วป่า-คุระบุรี
มติชนรายวัน วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552 หน้า 9
แม่น้ำตะกั่วป่า-เยาวชนกำลังช่วยกันปลูกป่าโกงกางบริเวณปากแม่น้ำตะกั่วป่า แต่หากมีการขุดลอกกันขนานใหญ่ ป่าชายเลนเหล่านี้คงถูกทำลายหมด
บทความของ อ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในหน้า "คติชน" ของหนังสือพิมพ์ "มติชน" ทำให้พวกเราเริ่มกังวลกับโครงการขุดลอกตะกอนทรายในลุ่มน้ำตะกั่วป่า หลายคนเริ่มถามหาคำตอบ และตั้งคำถามกันมากมายในตะกั่วป่า ความเห็นเริ่มกลายเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งมีคำตอบอยู่แล้วว่า หากขุดลอกตะกอนทรายแล้วสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ แถมยังทำให้เรือประมงขนาดกลางจะเข้า-ออกปากร่องน้ำบ้านน้ำเค็มได้คล่องตัว โดยไม่ต้องรอน้ำขึ้นและจะทำให้เรือยอชต์เข้ามาจอด นักท่องเที่ยวมากขึ้น
ส่วนชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งพยายามตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ แต่เขาก็ไม่รู้ว่าแล้วใครจะตอบได้ หลายคนเริ่มตั้งวงแลกเปลี่ยนตามร้านกาแฟ แต่วงแตกทุกวันเพราะความเห็นไม่ตรงกัน โครงการรัฐกำลังสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับคนในตะกั่วป่า สังคมกำลังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายขัดแย้งกัน รัฐหาทางออกโดยการแก้รัฐธรรมนูญ คนตะกั่วป่าแตกแยกกันเพราะโครงการของรัฐ แล้วจะใช้อะไรแก้ เพราะคนกลุ่มแรกเชื่อว่าขุดแล้วน้ำจะไม่ท่วมตะกั่วป่าอีก แล้วท้ายที่สุดกลุ่มคนที่ต้องการคำตอบที่แท้จริงเลยค้นหาคำตอบจากพวกเขาเอง เขาชวนกันตั้งวงถกอย่างจริงจังขึ้นครั้งแรก
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาชาวบ้านกว่า 30 คนทยอยกันมาตามที่นัดหมาย ในวงมอบหมายให้มีคนทำหน้าที่นำคุยคนหนึ่ง เริ่มต้นโดยเอาวัตถุประสงค์ของโครงการมาถกกันก่อน คำถามแรก "ขุดลอกตะกอนในแม่น้ำแล้วน้ำจะไม่ท่วมตะกั่วป่าจริงเหรอ"
ใครคนหนึ่งรีบยกมือและตอบ "ผมอายุ 50 กว่าแล้ว เป็นคนตะกั่วป่าโดยกำเนิด ที่จำความได้อายุสัก 7-8 ปี ผมเคยเล่นน้ำบนถนนตอนน้ำท่วม และมันก็ท่วมมาจนถึงปัจจุบัน น่าจะซัก 40 ปีมาแล้ว และท่วมทุกปี"
"แล้วตอนนั้นน้ำในคลองตะกั่วป่าลึกไหม" คนนำวงทำหน้าที่ซักถาม เขาเล่าต่อว่า "น่าจะสัก 6-7 เมตรได้ ก็เห็นเรือส่งสินค้าวิ่งมาถึงสะพานเสนาได้ เพราะด่านศุลกากรก็อยู่ที่ท่าเรือ ตอนนี้ก็ยังอยู่ น้ำก็ท่วม"
หลายคนเริ่มย้อนอดีตของตัวเองให้คนในวงสนทนาฟังอย่างหลากหลาย โดยมีคนคอยพูดเสริมและสนับสนุนเป็นช่วงๆ "เมื่อก่อนสัก 30 ปีที่แล้ว ผมอายุสัก 10 กว่าขวบ ผมเคยหาเศษเหล็กที่พวกแพดูดแร่ตัดทิ้งลงทะเล น้ำน่าจะลึกประมาณ 7-8 เมตร พวกเราดำหาเหล็กกันมาก เรารู้ดี แต่ตอนนั้นชายหาดน่าจะเข้ามาด้านใน อีกสัก 100 เมตร บ้านพวกเรามีใต้ถุนบ้านอยู่ในทะเลกันทั้งนั้น"
ช่วงหลายปีมานี้ มีโครงการขุดลอกปากร่องทุกปี แต่ปากร่องไม่เคยลึกเลย มีแต่ทรายชายหาดหายไป ปีหนึ่งๆ รัฐบาลเสียงบประมาณไปเกือบ 20 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาแต่ก็แก้ไม่ได้
คำถามต่อมาที่โยนเข้าวงแล้วถกกันคือ "หากขุดแล้วปากร่องจะลึกจริงมั้ย? ประโยชน์เกิดกับใคร? และใครจะได้รับผลกระทบบ้าง?"
หลายคนคิดหนักเรื่องนี้ แต่มีคนแสดงความเห็น "ผมเชื่อว่าการขุดปากร่องพวกเราที่ประกอบอาชีพประมงจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน ปากร่องลึก เข้า-ออกสะดวก เรือพวกเราจะได้ไม่จมที่ปากร่องเหมือนทุกปี แต่ผมก็กลัวเพราะเขาไม่ได้ขุดเฉพาะปากร่องอย่างเดียว เขาขุดเข้าไปตลอดสายน้ำทุกบาง อย่างนี้เราได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน" เยาวชนคนหนึ่งแทรกขึ้นมาว่า "เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พวกเราได้ไปศึกษาระบบนิเวศชายฝั่ง และได้ลองขุดทราย ชายหาด มีขนาด กว้าง 1 เมตร และยาว 3 เมตร ช่วงแรกขุดได้ แต่พอถึงน้ำเท่านั้นขนาดของมันก็กว้างออก ยิ่งขุดลึกด้านกว้างก็ขยายออกไป และมันก็ไม่ลึกเลย ดินพังลงมาเรื่อยๆ แล้วในทะเลน้ำเชี่ยวขนาดนั้น ชายหาดบ้านเราไม่หายหมดเหรอ" ทุกคำถามและการแลกเปลี่ยนไม่มีข้อสรุปใดๆ เลย ในวงยืนยันว่าพวกเราไม่ใช่จะคัดค้านโครงการ แต่เราต้องรู้เท่าทันเพื่อที่จะกำหนดชีวิตว่าพวกเราจะบริหารจัดการกับแผนการพัฒนาเหล่านี้อย่างไร หรือจะกำหนดท่าทีต่อโครงการอย่างไร
ยังมีข้อสังเกตต่อว่า โครงการนี้ดำเนินการอย่างไร โดยในแผนที่คือเส้นทางการขุดลอกคลองตั้งแต่ปากร่องบ้านน้ำเค็ม เข้าไปในคลอง ทุกซอกทุกซอยและออกที่ปากคลองทุ่งดาบ ซึ่งจะกว้างและลึกประมาณ 10-12 เมตร เข้าไปด้านในถึงบ้าน ท่าจูด บางนายสี ซึ่งมีความลึกโดยรวมตั้งแต่ 2-12 เมตร ใช้เวลาขุดนานประมาณ 5 ปี โดยรวมจะขุดเอาทรายประมาณ 21 ล้านตัน หรือประมาณ 2 ล้านรถสิบล้อ และใช้พื้นที่ในการขุดโดยประมาณ 2 หมื่นไร่ แล้วเราก็ควรรู้ว่าในคลองบ้านเราเขาจะเอาอะไรมาวิ่งในคลองบ้าง เขาจะใช้เครื่องมือในการนี้ ประกอบด้วย
เรือขุดแบบหัวสว่าน ขนาด 3,000 ตัน/ซม. 1 ลำ
เรือขุดแบบหัวสว่าน ขนาด 1,000 ตัน/ซม. 1 ลำ
เรือบรรทุกแบบ ขนาดระวางขับน้ำ 30,000 ตัน 6 ลำ
เรือลำเลียงแบบ ขนาดระวางขับน้ำ 3,000 ตัน 5 ลำ
เรือลำเลียงแบบ ขนาดระวางขับน้ำ 500 ตัน 5 ลำ
เรือหางยาว ขนาดบรรทุกผู้โดยสาร 15 คน 2 ลำ
เรือเร็วเครื่องกลาง ขนาด 45 ฟุต 1 ลำ
ทั้งหมดเป็นแค่ข้อมูลเบื้องต้นที่คนในวงสนทนาพอที่จะสืบหาได้ เพราะโครงการนี้มีผู้ที่ตอบแบบสอบถาม แค่ 49 คนเท่านั้น ทำให้โครงการเกิดขึ้นเงียบๆ สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นละ คนในวงจึงรวบรวมข้อสังเกตของทุกคนว่าโครงการนี้เกิดขึ้นแล้วประโยชน์จะตกกับใครบ้าง และพวกเราทุกคนต้องหาคำตอบจากคนที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างไม่ลดละ คำถามเหล่านี้ใครจะตอบ
ข้อสังเกตของโครงการ จากกลุ่มคนเล็กๆ ของสังคม
1.หากมีการดูดจริงทรัพยากรป่าชายเลนถูกทำลาย เกิดการสูญเสียแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแล้วใครรับผิดชอบ หรือฟื้นฟู
2.ผลประโยชน์ที่เกิดของโครงการเกิดกับใครบ้าง คนตะกั่วป่า (จริงหรือ) หรือว่าใครกันแน่
3.วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการ แอบแฝงหรือไม่ ในการทำโครงการนี้ เพราะพวกเราเชื่อตลอดว่าในคลองมีแร่ดีบุก แร่อื่นๆ เพชร และแร่ที่ผลิตแก้วได้ ทรายแค่ผลพลอยได้ ทรัพยากรของชาติไทยไปสิงคโปร์ฟรีๆ ได้อย่างไร
4.การทำโครงการนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง เพราะช่วงน้ำทะเลหนุนไม่สามารถระบายน้ำได้ และในช่วงที่เรือใหญ่ เรือสินค้าเข้าได้ น้ำก็ยังท่วม เช่น ในปี 2522 มีการขุดแร่ดีบุกกับแพดัน ในคลองน้ำเค็ม น้ำลึกประมาณ 8 เมตร ลำคลองกว้างน้ำทะเลยังท่วมใกล้ถึงถนน แล้วบ้านของชาวบ้าน ณ วันนี้จะทำอย่างไร ถ้าขุดถึง 12 เมตร คลื่นคงกัดเซาะชายฝั่งทะเลหมด
5.โครงการนี้ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ชาวประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งคลอง มีใครสักกี่คนที่รับรู้โครงการนี้อย่างละเอียด แม้กระทั่งผู้นำทางการที่เป็นตัวแทนยังไม่รู้รายละเอียดเลย
6.การวิเคราะห์ตะกอนทรายว่ามีสารซิลิกาออกไซด์ไม่เกิน 75% หน่วยงานไหนรับผิดชอบ ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการรับรู้หรือไม่ มีการตกลงกันหรือเปล่าว่ามีสารซิลิกาออกไซด์ไม่เกิน 75% การสำรวจน้ำดินทรายจากส่วนไหนมาสำรวจกันแน่ แล้วทำไมต้องขอให้มีการแก้ประกาศกระทรวงพาณิชย์ด้วย ถ้ามีสารซิลิกาออกไซด์ไม่เกิน 75% จริง
ทั้งหมดนี้ใครช่วยตอบให้คนตะกั่วป่า และคนคุระบุรี (ที่ไม่เคยรับรู้เรื่องนี้เลยทั้งๆ ที่หน้าบ้านเขาจะถูกขุดกว้างกว่า และลึกกว่าด้วยซ้ำ)
ผู้ที่รับผิดชอบต้องเปิดเวทีอธิบายและเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดถึงข้อดีข้อเสียของโครงการ ก่อนที่คนตะกั่วป่าจะแตกแยกกันเดินคนละทาง และหันหลังให้กันตลอดไป จนกลายเป็นความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวางและสายเกินกว่าที่จะแก้ไข
|