homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

"หวาบ่าว"คนทำทางแห่งนาคา

โดย สุวัฒน์ คงแป้น
มติชนรายวัน  วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552  หน้า 8

หวาบ่าว หรือบ่าว ชายเขาทอง ชายชราวัย 70 นุ่งโสร่งผ้าขาวม้าพันคอ มือถือมีดพร้าขนาดกระชับมือ เดินนำหน้าผมเข้าไปในสวนที่แกแลกมาด้วยหยาดเหงื่อนับปริมาตรไม่ได้มาร่วม 50 ปี

ต้นผลไม้มีหลากหลาย ซึ่งให้ผลมาแล้วหลายปี ไม้ยืนต้นราว 2 คนโอบหลายต้น ซึ่งเป็นไม้ดั้งเดิมก่อนหวาบ่าวจะเข้ามาทำกิน แถมยังมีไม้ปลูกใหม่ๆ อีกหลายอย่าง เช่น หลุมพอ ตะเคียนทอง สะเดาเทียม

หวาบ่าวชี้ไปที่ต้นสะตอขนาดใหญ่ ตรงโคนต้นเพิ่งปลูกสะเดาเทียม แกบอกว่า "ปลูกสะเดาไว้เก็บสะตอ" เพราะสะเดาเทียมเป็นไม้โตเร็ว พอมันโตก็จะปีนขึ้นไปเก็บสะตอที่อยู่ปลายกิ่งได้สะดวก

ผมเดินชมสวนพูดคุยกับหวาบ่าว เดินผ่านต้นผลไม้ก็เก็บกินไปเรื่อยๆ มังคุด เงาะ ลองกอง ละไม ไม่ทันไรก็รู้สึกอิ่ม เสร็จจากชมสวน ผมนั่งคุยกับหวาบ่าวใต้ถุนที่ทำการเครือข่ายเกษตรทำสวนและประมงพื้นบ้าน ซึ่งหวาบ่าวบริจาคที่ดินให้กว่า 3 ไร่

"ผมเป็นคนกระบี่ อาชีพทำสวนยาง มีคนบอกว่าที่ ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง มีที่ดินเหมาะต่อการทำสวนก็เลยมาซื้อไว้ 20 ไร่ เขาขาย 2,000 บาท ผมให้ไป 3,000 บาท เจ้าของที่ดินดีใจบอกว่าวันนี้ถูกหวย" หวาบ่าวเริ่มเล่าให้ฟัง

ผมย้ายมาอยู่ที่ ต.นาคา ใหม่ๆ ก็ไม่ได้ทำสวนเต็มที่นัก เพราะเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งฐานที่มั่นอยู่บนภูเขาใกล้บ้านผม เป็นฐานไม่ใหญ่ มีสหายอยู่ราวๆ 80 คน บ้านผมเป็นเสมือนฐานสำรอง คอยคัดกรองคนที่สมัครใจเข้าร่วมอุดมการณ์กับพรรคบนฐาน

"ผมใช้ชื่อว่า สหายเกษม เป็นสหายนำอยู่ที่นี่ ราวๆ ปี 2526 หลังการล่มสลายของพรรค พวกเราก็กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ก่อนลงมาพรรคมอบหมายให้ผมรับผิดชอบจัดที่ดินใกล้ๆ ฐานให้สหายทำกินคนละ 50 ไร่ ประมาณ 50 คน ซึ่งแรกๆ ทางการก็ออกเอกสารทำกินให้ ต่อมาได้ยกเลิกเพื่อเปลี่ยนเป็น ส.ป.ก.4-01 แต่ก็ยังไม่ได้ออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ให้กับชาวบ้าน เพราะมีมหาวิทยาลัยจะมาสร้างที่นี่ ต้องการที่ดินถึง 2,000 ไร่ แต่ชาวบ้านคัดค้านเรื่องก็เลยคาราคาซังมาถึงวันนี้

ตอนออกจากป่ามาทำสวน ทุกคนไม่มีเงิน มีแต่แรง หักร้างถางพงด้วยจอบ มีดพร้า ผมแนะให้พวกเราเว้นไม้มีค่าตามธรรมชาติไว้ แม้เป็นต้นเล็กๆ ก็ตาม มีเงินเล็กๆ น้อยๆ ค่อยหาซื้อพันธุ์ไม้ผลมาลง มี 10 ต้น ปลูก 10 ต้น ไม่ต้องกู้เงินมาลงทุน ทำแบบพออยู่พอกินให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ผมเองก็ทำอย่างนั้น จึงสังเกตเห็นว่าสวนของผมมีต้นไม้หลายชนิด ปลูกเสริมก็มาก มันได้เงินน้อยแต่ก็สุขใจ"

"อยู่มาวันหนึ่ง..." หวาบ่าวเล่าต่อ "ผมไปเดินซื้อของที่ตลาดซึ่งชาวบ้านหมู่ 3 ที่อยู่ติดกับทะเล เอาปลามาขายแห่งเดียวกับที่เราเอาผัก ผลไม้ไปขาย เมื่อผักกับปลามาเจอกัน เราก็เกิดความคิดว่าเราต้องเชื่อมร้อยเป็นเครือข่ายกัน เอาของมาแลกกัน ที่เหลือก็ตั้งเป็นตลาดกลางของชาวบ้าน อย่างเช่น พี่น้องหมู่ 3 ก็รวมตัวกันตั้งแพปลารับซื้อปลาของสมาชิกไปส่งขาย ทำให้ไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง"

ระยะหลังพืชเชิงเดี่ยวจำพวกปาล์มเข้ามามาก ชาวบ้านหลายรายหันไปปลูกปาล์ม ใช้ปุ๋ยเคมี นานไปก็ประสบปัญหาขาดทุน ดินเสื่อมสภาพ เขาเลยรณรงค์ให้หันมาทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองรวมทั้งปลูกพืชสมรม คล้ายๆ กับสวนพ่อเฒ่า (สวนโบราณ) ลูกหลานในครอบครัวช่วยกันทำช่วยกันปลูกและได้รณรงค์ให้เลิกใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งขณะนี้แม้แต่สวนปาล์มก็หันมาทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพใช้เองกันแล้วหลายราย

อดีตสหายผู้ซึ่งมีการปรับแนวคิดอยู่ตลอดเวลา จนผมเห็นว่า "หวาบ่าว" ไม่ใช่สหายหลงยุคเหมือนอีกหลายๆ คน แต่ยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้กับชาวบ้านในตำบลนาคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีแห่งการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ นักพัฒนาเอกชน ราชการ จะเข้ามาพัฒนาหมู่บ้านก็เดินเข้าพบหวาบ่าวก่อน มิใช่เป็นเพราะหวาบ่าวเป็นผู้มีอิทธิพลแต่อย่างใด หากเป็นเพราะความดี ความเป็นคนมีเหตุผล เป็นที่เกรงใจของชาวบ้าน ประกอบกับความมีอุดมการณ์รับใช้สังคม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเป็นแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้หวาบ่าวเป็นที่เคารพนับถือของผู้คน

"ผมจะใช้แนวทางประชาธิปไตย ปกครองผู้คน ไม่เว้นแม้แต่ในบ้าน ลูกจะซื้อรถยนต์ก็คุยกันว่ามันมีประโยชน์ คุ้มค่าไหม เอาเหตุผลมาว่ากัน ตอนทำกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนและเชื่อมเป็นเครือข่ายกับทางคนริมทะเล เราก็เอาประชาธิปไตยมาว่ากัน เป็นประชาธิปไตยชุมชน ที่เคารพในทุกความเห็น ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ทำตามสียงข้างมากเหมือนการเมืองบ้านเรา"

วันนี้ที่ศูนย์เครือข่ายเกษตรทำสวนและประมงพื้นบ้าน มีแกนนำของเครือข่ายมารวมตัวกันราวๆ 30 คน มาเพื่อถอดบทเรียนของตัวเขาเอง ไม่เว้นแม้แต่หวาบ่าว ก็ต้องเข้ากลุ่มกับเขาด้วย ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์

วิทยากรมอบหมายให้คิดถึงข้อดีของเครือข่ายก่อน ทุกคนพูดไม่ต่างกันว่า ด้านการเกษตรก้าวหน้าไปมาก มีเข็มมุ่งในการเปลี่ยนไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนอย่างชัดเจน มีสวนต้นแบบถึง 5 แห่ง นอกจากสวนอิ่มบุญของหวาบ่าวแล้ว ยังมีสวนที่ลูกหลานตั้งชื่อให้ เช่น สวนขัดเกลาตัวเอง สวนเศรษฐกิจพอเพียง เพราะมีทุกอย่างให้กิน สวนป่า เพราะมีป่าเดิมๆ อยู่มาก และสวนลอดร่อง เพราะเจ้าของสวนนำสิ่งดีๆ จากสวนคนอื่นไปรวมเอาไว้เกือบหมด

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่แสดงถึงการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งทำกันทุกครอบครัว การทำของใช้ในครัวเรือน เช่น สบู่ ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ซึ่งทุกอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือการพึ่งตนเอง

จุดแข็งอีกอย่างหนึ่งที่พวกเขาพูดถึงก็คือ ความเป็นเครือข่ายที่เชื่อม และเกื้อกูลต่อกันของคน 2 วิถี คือคนทะเล และชาวสวน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เอื้ออาทรต่อกัน รวมทั้งการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกของคนไทยพุทธ มุสลิมและพี่น้องต่างถิ่น เช่น จากภาคอีสานและจากจังหวัดอื่นๆ

ทุกคนบอกว่าข้อดีที่มีอยู่ ไม่ควรหยุดอยู่เพียงเท่านี้ ทุกสวนควรเปลี่ยนแปลงตัวอย่าง มิใช่มีอยู่เพียง 5 แปลง และทุกแปลงควรเป็นเกษตรอินทรีย์โดยสมบูรณ์ ในขณะที่การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้บนฐานของการพึ่งตนเองก็ควรรักษาจุดยืนนี้ต่อไป

นี่เป็นแผนงานข้างหน้าของเครือข่ายเลยทีเดียว แผนงานที่นำจุดด้อยของพวกเขามาผนวก นั่นคือ จะต้องมีการพัฒนาและขยายแกนนำเชิงการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำคนรุ่นใหม่เพื่อทดแทนคนรุ่นเก่าที่นับวันสังขารจะโรยรา เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

ด้วยบทเรียนดีๆ เช่นนี้ ตำบลนาคา จึงเป็นหนึ่งใน 14 ตำบลเรียนรู้การเมืองภาคพลเมืองของคณะกรรมการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองประจำภาคใต้ สภาพัฒนาการเมือง

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: