homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ความพยายาม ที่ยังต้อง"พยายาม"

โดย ชุติมา นุ่นมัน

มติชนรายวัน     วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552  หน้า 8

5 วันก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่โรงแรมรีเจนท์ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เครือข่ายชาวบ้านที่ต้องแบกรับสารพัดปัญหาในชีวิตประจำวัน จากหลายชาติหลายเผ่าพันธุ์ รวมตัวกันในนามประชาชนอาเซียน จำนวน 650 คน หารือแลกเปลี่ยนความอัดอั้นตันใจที่ตัวเองได้รับ เพื่อให้ตัวแทนนำไปบอกกล่าวกับบรรดาผู้นำของพวกเขาให้ช่วยแก้ปัญหาและหาทางออกให้

ภิกษุหนุ่มผิวคล้ำค่อยๆ สาวเท้าเดินด้วยกิริยาสำรวมออกจากที่นั่งไปยืนหน้าไมโครโฟนกลางห้องโถงใหญ่ ท่ามกลางสายตานับพันคู่ที่จดจ้องด้วยความสนใจ

"อาตมาชื่ออาชิน โสพะกา เป็นตัวแทนพระสงฆ์จากประเทศพม่า" ท่านแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล แต่ทว่าชัดเจน สะกดทุกสายตาให้มอง และจดจ้องที่จะฟัง

ท่านอาชินพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า ว่าเวลานี้ประชาชนในพม่ามีชีวิตเหมือนติดคุก เด็กๆ ถูกบังคับให้ถือปืนทั้งๆ ที่อยากจะไปโรงเรียน ในพม่ามีทหารเด็กกว่า 20,000 คน ทำงานโดยไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แรงงานพม่าหลายร้อยคนที่ออกไปทำงานต่างถิ่นอยากกลับบ้าน แต่ก็กลับไม่ได้ คิดดู ความคิดถึงบ้านมันทรมานแค่ไหน ประชาชนพม่าต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวง ถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย พระสงฆ์หลายร้อยรูปต้องติดคุกจากการที่ออกมาเรียกร้องสันติภาพ

"อาตมาในฐานะพระสงฆ์รูปหนึ่ง ขอพูดแทนเพื่อนพระสงฆ์ที่ถูกจับและล้มตายไปแล้ว รวมไปถึงชาวพม่าทุกคน อยากจะแสดงความคิดเห็นว่า ที่รัฐบาลอาเซียนเคยกล่าวว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกเลย เวลานี้ประชาชนเดือดร้อนอย่างมาก เพราะผู้นำของตนเองไม่ยุติธรรม เข่นฆ่าประชาชนที่ไม่ใช่พวกของเขา อาเซียนควรที่จะเข้าไปแทรกแซงยับยั้งปัญหาเหล่านี้" ท่านอาชินพูดจบด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลเหมือนเดิม ก่อนจะเดินกลับไปนั่งที่ โดยมีเพื่อนร่วมชาติที่มาประชุมด้วยลุกขึ้นยืนตบมือให้กำลังใจ


"พูดอย่างนี้ สงสัยจะไม่ได้กลับประเทศ" ใครคนหนึ่งกระซิบกระซาบอยู่ข้างหู

หลังจากเลิกประชุมในเย็นวันนั้น เธอได้เข้านมัสการ ขอสนทนากับภิกษุพม่ารูปนั้นทันที

ท่านอาชินยิ้มอย่างปรานี พร้อมกับตอบรับ

"ท่านพูดในห้องประชุมแบบนั้น แล้วจะกลับเข้าประเทศได้หรือคะ" เธอเริ่มคำถามที่ใครบางคนกระซิบเอาไว้ในห้องประชุม

ท่านยิ้มอย่างมีเมตตาอีกครั้งก่อนจะบอกว่า พูดเช่นนั้นได้ เพราะเวลานี้ท่านก็เข้าประเทศไม่ได้อยู่แล้ว และเข้าไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2546 หรือราว 6 ปีมาแล้ว

"ตอนนั้นอาตมาบวชเรียนอยู่ที่พม่า และมีโอกาสได้เดินทางไปประเทศเยอรมนีเพื่อศึกษาและเผยแพร่ธรรมที่นั่น อยู่ที่เยอรมนีได้ประมาณ 5 เดือน ทางบ้านส่งข่าวบอกว่าสถานการณ์ในประเทศไม่ค่อยดี มีคนตายมากมาย โดยเฉพาะนักศึกษา เลยรู้ตั้งแต่วันนั้นว่ากลับบ้านไม่ได้อีกแล้ว จึงอยู่เยอรมนีมาตลอด ตอนแรกก็อยู่ด้วยความกลัวและเป็นห่วงที่บ้าน แต่พยายามใช้ธรรมะเข้ามาช่วยให้จิตใจสงบ และหาทางออกว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป เพื่อช่วยเหลือให้เพื่อนในชาติพ้นจากชะตากรรมที่พวกเขาได้รับ" ท่านอาชินบอก

หลายๆ ประเทศทั้งในแถบยุโรป เอเชีย สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทย มีนักศึกษาพม่าและชาวพม่าที่อาศัยอยู่ มีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน วิธีการคือ การพูดคุย บอกเล่า ทำความเข้าใจ สื่อสารกับทุกคนว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับชาวพม่าบ้าง


"เราต้องการให้ประเทศเรามีสันติภาพอย่างแท้จริง ให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียงเท่าเทียมกัน ไม่ต้องการเห็นคนล้มตายอย่างไม่มีเหตุผลอย่างที่แล้วมา เราไม่อยากให้ใครมาใช้ความรุนแรง เราจะรณรงค์ทุกอย่างเพื่อเรียกร้องสิ่งนี้ พูดคุยกับทุกคนที่พร้อมจะฟังเรา"

"อยู่ที่เยอรมนีท่านทำอะไรบ้างคะ"

ท่านอาชินบอกว่า นอกจากปฏิบัติภารกิจที่สงฆ์พึงปฏิบัติเป็นปกติแล้ว ที่ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำในฐานะชาวพม่าที่ต้องการประชาธิปไตยคนหนึ่งก็คือ การสื่อสารกับชาวโลกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชาวพม่า

"วัดที่อาตมาอยู่ที่เยอรมนี ชื่อวัดสันติธรรม อยู่ในเมืองโคโลญจ์ วัตรปฏิบัติคือ ตื่นเช้าขึ้นมาก็สวดมนต์ นั่งสมาธิ และแผ่เมตตาให้กับทุกคน อยู่ที่โน่นพระไม่ต้องบิณฑบาต มีญาติโยมนำอาหารมาถวายมากมาย ที่บอกว่ามากมายเพราะมีคนนับถือศาสนาพุทธค่อนข้างเยอะ อาหารและข้าวของที่มีญาติโยมนำมาถวายก็จะถูกแบ่งปันให้กับประชาชนและนักศึกษาที่ขาดแคลนด้วย ช่วงเวลากลางวันก็จะผู้คนมาร่วมสนทนาทั้งเรื่องราวของธรรมะและประชาธิปไตยรวมกัน"

ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ท่านอาชินอยู่ในเมืองไทย โดยจำวัดอยู่ในวัดแห่งหนึ่งที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยครั้งหนึ่งได้เดินเท้าจากที่นั่นเพื่อเข้ามากรุงเทพฯ พร้อมกับลูกศิษย์คนหนึ่ง ระหว่างทางได้พบกับคนงานชาวพม่าที่มาทำงานในประเทศไทยหลายคน รวมทั้งคนไทยและชนกลุ่มน้อย ได้ร่วมพูดคุยสนทนาด้วย โดยท่านบอกกับทุกคนว่า เป็นการเดินเพื่อสันติภาพ แต่มาไม่ถึงกรุงเทพฯ เพราะระหว่างทางมีชาวพม่าหลายคนอยากร่วมทางด้วย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยไม่ยอม เพราะเกรงว่าจะมีปัญหา แต่ท่านอาชินบอกว่า ยังจะทำเรื่องนี้อยู่

ในงานประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียน ท่านอาชินได้พูดคุยและเล่าเรื่องราวการทำงานของชาวพม่าที่กำลังพยายามทำงานอยู่ทั่วทุกมุมโลกให้ทุกคนฟัง และได้ตั้งความหวังว่าวันที่ผู้นำของหลายๆ ประเทศในอาเซียนมาพบกันนั้น ท่านจะมีโอกาสพบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

"เราอยากให้นายกฯอภิสิทธิ์ช่วยเป็นสื่อกลางไปเจรจากับรัฐบาลของเรา ให้หยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชนพม่า"

"สมมุติว่าคุณอภิสิทธิ์รับปากท่าน คิดว่าผู้นำของท่านจะเชื่อและปฏิบัติตามในสิ่งที่นายกฯของเราขอหรือคะ" ผู้สนทนาด้วยถามแซงขึ้นมา

ภิกษุพม่ายิ้มน้อยๆ กับคำถามนั้น ก่อนจะบอกว่า ถึงจะไม่ฟัง แต่ก็ทำให้เห็นความตั้งใจจริงของประเทศไทยว่ามีความกรุณากับประเทศพม่าแค่ไหน

"ที่ผ่านมาเราก็เห็นความกรุณาของคนไทยที่มีให้กับพวกเรา แม้ว่ารัฐบาลของเราจะไม่ฟังใครก็เถอะ แต่นี่ก็เป็นอีกความพยายามที่เราสามารถทำได้"

น่าเสียดายว่า เมื่อถึงที่สุดในการพบปะกันของบรรดาผู้นำสูงสุดในอาเซียน ปรากฏว่าเวทีแห่งนั้นไม่มีช่องว่างให้ภาคประชาชนเข้าร่วมตามที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก และท่านอาชินก็ไม่มีโอกาสจะเข้าไปพบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ตามที่ตั้งใจเอาไว้

ความพยายามของท่านอาชิน ก็จะกลายเป็นความพยายามอีกต่อไป

และดูท่าว่าต้องใช้ความพยายามอย่างหนักขึ้นเสียด้วย

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: