หนึ่งโรงแรม.... หนึ่งมารีน่า
จังหวัดภูเก็ต ไข่มุกเม็ดงามแห่งอันดามัน สถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อติดระดับโลก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม ความงามไม่ขาดสาย ล่าสุดมีกระแสข่าวสร้างความฮือฮามากขึ้น เมื่อนายบิล เกตส์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ชาวอเมริกัน ชื่นชมในธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะพื้นที่เกาะแก่ง และพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล เปรยว่าจะหอบเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาลงทุนเนรมิตที่พักสุดหรู พร้อมการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นท่าจอดเรือยอร์ช เพื่อสำหรับบริการบรรดาอภิมหึมามหาเศรษฐีชาวต่างชาติ ที่เข้ามาหาความสำราญในอ่าวพังงา
ความสนใจของนายบิล เกตส์ ได้รับเสียงตอบรับจากหน่วยงานของไทยอย่างท่วมท้น เนื่องจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังได้ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทยให้คนทั่วโลกได้รู้จัก ซึ่งความฝันของนายบิล เกตส์ น่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม และน่าจะฝันเป็นจริงเข้าสักวัน
แต่ก่อนที่นายบิล เกตส์ จะตัดสินใจแน่นอน ในพื้นที่อ่าวพังงาก็พบว่ามีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จ่อคิวเข้ามาลงทุนหลายราย กลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ขนเงินเข้ามาสร้างรีสอร์ท โรงแรมที่พักหรูหราในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่นั้น มีการเสนอขายความเป็นส่วนตัวเป็นหลัก ด้วยการกว้านซื้อที่ดินในชุมชนดั้งเดิม แล้วนำไปสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า พบว่าการสร้างท่าเทียบเรือมารีน่ากลายเป็นจุดขายสำคัญ เพื่อบริการนักท่องเที่ยว
ในจังหวัดภูเก็ตมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือหลายพื้นที่แล้ว เช่น ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ท่าเทียบเรือเกาะมะพร้าว ท่าเทียบเรือเกาะนาคา ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ล่าสุดบริเวณแหลมยามูกลายเป็นชิ้นปลามัน ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ ผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือยามูไปแล้ว จนเดี๋ยวนี้มีชาวบ้านบอกว่า เป็นการสนองแนวนโยบายของรัฐบาลคือหนึ่งโรงแรม หนึ่งมารีน่า
สิ่งที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดที่ควบคู่ไปกับการก่อสร้าง สะพานท่าเทียบเรือมารีน่าคือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชน พบว่าในพื้นที่บ้านยามูมีทั้งกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการให้เกิดการพัฒนา มีงานทำ มีรายได้ที่แน่นอนจากนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน ...... แน่นอนอีกฝ่ายหนึ่งย่อมเป็นอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย กลุ่มชาวบ้านที่ยังคงต้องการดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ต้องการรักษาทรัพยากรที่ยังคงมีอยู่เพียงน้อยนิดให้คงอยู่เพื่อให้ลูกหลานได้ใช้เป็นแหล่งหาอยู่หากิน ทรัพยากรทางทะเลเหล่านี้คือแหล่งอาหารและยาสมุนไพรที่สำคัญของชุมชนบ้านยามู ในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งตำบลป่าคลอก และยังเป็นแหล่งหากินที่สำคัญของบรรดาสัตว์น้ำหายากเช่นพะยูน โลมา และเต่าทะเล ที่นับวันจะเหลือน้อยลงไปทุกที ซึ่งแน่นอนว่าชาวบ้านทั้งในและนอกชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างมารีน่า จะต้องเกิดความขัดแย้งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ทำให้ทราบข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อย เกี่ยวกับรายงานดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทที่ทำการศึกษาผลกระทบได้ให้ข้อมูลกับ คณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ มีใจความสำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่งว่า เบื้องต้นพบว่าในพื้นที่โครงการไม่พบปะการัง และทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เนื่องจากมีลักษณะเป็นดินเลนโคลน และน้ำมีความขุ่นมาก
แต่จากการลงพื้นที่บ้านยามู ทำให้ทราบข้อมูลที่น่าสนใจจากแหล่งข่าว ซึ่งเป็นกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านใน ต.ป่าคลอก ทราบว่า ทางบริษัทได้นำรถแม็คโคร และคนงานจำนวนหนึ่ง เข้าขุดถอนหญ้าทะเล และทำลายปะการังในพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ในที่นี้ก็ไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนว่าบริษัทได้ดำเนินการทำลายทรัพยากร
แต่จากหลักฐานที่แหล่งข่าวได้นำมาให้ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลดูคือเศษหญ้าทะเล ที่อยู่ในสภาพถูกขุดถอนในลักษณะถอนรากถอนโคน เพราะโดยทั่วไปแล้วหญ้าทะเลที่ถูกกระแสน้ำพัดพาจะมีสภาพใบขาดเท่านั้น กระแสคลื่นลมขนาดความแรงอย่างคลื่นสึนามิ ก็ไม่สามารถดึงหญ้าทะเลแบบถอนรากถอนโคนได้ (ตามภาพ)
นอกจากนี้พบว่าทรายในอ่าวป่าคลอกเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะพื้นที่โครงการได้นำทรายเข้ามาถมบริเวณชายหาดหน้าพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อทำหาดเทียม เมื่อกระแสน้ำพัดพาเอาตะกอนทรายมาที่บริเวณหน้าหาดป่าคลอก ทำให้ทรายแข็งขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หญ้าทะเล และปะการังเริ่มตาย สัตว์น้ำเริ่มหายาก
แหล่งข่าวบอกว่า วันนี้( 24 พ.ค. 50 ) ผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยงานของภาครัฐได้พยายามพูดจาไกล่เกลี่ย พร้อมกับเสนอเงินให้จำนวนหนึ่ง แลกกับการนั่งอยู่การก่อสร้างสะพานมารีน่าเฉยๆ และไม่ให้ก่อความวุ่นวาย ไม่ออกไปป่าวประกาศคัดค้านการก่อสร้าง ทรัพยากรทางทะเลที่มีเพียงหญ้าทะเลและแนวปะการัง ไม่สามารถที่จะต้านทานกระแสการพัฒนาได้ การอนุมัติให้ก่อสร้างสะพานมารีน่าจึงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรท่ามกลางความขัดแย้งที่เริ่มรุนแรง
กระแสการพัฒนาของภาครัฐในพื้นที่แถบชายฝั่งอันดามันที่ถาโถมเข้ามาในระยะนี้ ยิ่งเปิดกว้างให้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในชาติได้ง่ายขึ้น หลายครั้งที่พบว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่นั้น ทางหน่วยงานภาครัฐได้มีส่วนสนับสนุนเพื่อให้การดำเนินงานของกลุ่มทุนมีความคล่องตัว และยังเข้าใจถึงสภาพปัญหาของนักลงทุนชาวต่างชาติเป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐให้การดูแลกลุ่มทุนมาโดยตลอด
แต่กลับน่าแปลกใจว่าหน่วยงานภาครัฐทั้งจากส่วนกลาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด กลับไม่เคยเข้าใจความต้องการ และปัญหาที่จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน สิ่งที่ภาครัฐมักจะทำเมื่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนคือการเพิกเฉย และไม่สนใจต่อการแก้ปัญหาใดๆ!!!!!!
ภาครัฐของไทยมีประสิทธิภาพในการชักชวนนักลงทุนกระเป๋าหนักเข้ามาทุ่มเม็ดเงินเพื่อร่วมพัฒนาประเทศ แต่น่าแปลกใจที่ภาครัฐไม่สามารถรักษาหญ้าทะเล และปะการังของประเทศชาติไว้ได้แม้แต่ตารางเมตรเดียว
ข้อมูลโดย:กลุ่มชาวบ้าน ชาวประมงพื้นบ้าน ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
เรื่อง/ภาพโดย: นายจัน |