ไปเจ้ยเคย (จบ)
หนังสือพิมพ์ภูเก็ตโพสต์ วันที่ 1-15 ธันวาคม 2552
วันที่แดดร้อน ฟ้าใสไร้กลุ่มเมฆฝน ฉันอยู่ในเรือท้องแบนลำเล็ก นั่งมองกุ้งเคยตัวใสเล็กระจิ๋วหลิวที่อยู่ในถุงอวนสีขาว
นี่เองกุ้งเคย ตัวเล็กที่มาของกะปิ...น้ำพริกกะปิที่ฉันกินมาแต่เล็กแต่น้อย
ถ้าสังเกตุให้ดีจะมีจุดเล็กๆ สีดำปะปนอยู่ในเนื้อของกะปิ จุดสีดำที่มองเห็นหรือบางทีแทบจะมองไม่เห็นก็คือตาของกุ้งเคยนับล้านๆ คู่
ในพื้นที่ จ.พังงา ภูเก็ต มีหลายหมู่บ้านเป็นแหล่งผลิตกะปิรสชาติดีและได้คุณภาพ เช่น บ้านในหงบ ต.ตากแดด บ้านใต้ บ้างบางพัฒน์ ต.บางเตย อ.เมือง บ้านคลองเหีย บ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว บ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และบ้านป่าคลอก ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ฉันเคยเที่ยวไปหมู่บ้านที่ทำกะปิหลายหมู่บ้าน ในพื้นที่อ่าวพังงาตอนใน ก็คือพื้นที่ อ.เมือง อ.ทับปุด อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา มีจุดที่น่าสังเกตุว่าพื้นที่ๆ มีกุ้งเคยจะมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนในพื้นที่บ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา และบ้านในไร่ ต.นาเตย จ.พังงา จะรุนกุ้งเคยริมชายฝั่ง น้ำทะเลใสและสะอาด
บังดุก หรือนายบัณฑิต หลีบำรุง เล่าให้ฉันฟังว่า กุ้งเคยจะอยู่ในน้ำทะเลใสและสะอาด น้ำทะเลต้องไม่มีมลพิษ ถ้าน้ำทะเลเสีย กุ้งเคยก็จะไม่เข้ามา
น้ำทะเลเสีย...มาจากไหนได้บ้าง??
แหล่งน้ำเสียจากชุมชนขนาดเล็กริมทะเล แต่โดยส่วนใหญ่น้ำเสียเหล่านี้จะเป็นน้ำจากการอุปโภคและบริโภคไม่สามารถทำให้น้ำทะเลเน่าเสียได้ ตัวการสำคัญที่จะทำให้กุ้งเคยหายไปจากท้องทะเลก็คืออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตวน้ำ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีโรงแรม รีสอร์ทขนาดใหญ่จำนวนมากตั้งอยู่ริมชายฝั่งและไม่มีการจัดการระบบน้ำเสียที่ดีพอ
นอกจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งแล้ว ฉันสังเกตุเห็นว่า ขนาดของกุ้งเคยบริเวณอ่าวพังงาตอนในหรือกุ้งเคยที่ได้จากริมป่าชายเลนมีขนาดเล็กมาก จนมองไม่เห็นตัวกุ้งเคย สิ่งที่บอกว่านี่คือกุ้งเคยก็คือจุดสีดำจำนวนมากที่ปะปนอยู่ในกองเดียวกัน กุ้งเคยเหล่านี้มีขนาดเล็กกว่ากุ้งเคยที่ได้จากริมฝั่งทะเลอันดามัน
กุ้งเคยที่ได้จากการ เจ้ย หรือ การช้อนตัก ตัวใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับกุ้งเคยที่บ้านบางพัฒน์
ฉันมองเห็นกุ้งตัวจิ๋ว และกลั้นใจหยิบกุ้งเคยสดจากถุงอวนเจ้ยเคยเข้าปาก...รสชาติหวานและอร่อยติดลิ้น
กุ้งเคยสดและสะอาดอย่างนี้นี่เองที่ทำให้กะปิที่บ้านในไร่ราคาค่อนข้างสูงกว่ากะปิในพื้นที่อ่าวพังงาตอนใน กิโลกรัมละ 150 บาท ขายดีไม่มีเหลือ
ในรอบ 1 ปี จะมีเพียงแค่ 10 วัน ในช่องระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ฝูงกุ้งเคยเดินทางผ่านบ้านในไร่ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ จ.ระนอง
แดดร่ม กลุ่มเมฆฝนเริ่มก่อตัวไล่หลัง เป็นสัญญาณบอกว่าต้องรีบกลับเข้าฝั่ง
ฉันเดินทางกลับเข้าฝั่งด้วยเรือท้องแบนพร้อมด้วยกุ้งเคยที่ชาวประมงพื้นบ้านในละแวกนั้นแบ่งให้เป็นอาหารมื้อเย็น
ฉันนั่งมองกุ้งเคยตัวใส เล็กกระจิ๋วหลิว...กุ้งเคยล้วนๆ ไม่มีสัตว์น้ำอื่นเจือปนจากการช้อนตัก หรือการเจ้ยเคย อาหารมื้อเย็นของฉันคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้...ถ้าไม่ใช่ ไข่เจียวใส่กุ้งเคย...
ผู้เขียน สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |