homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

เที่ยวทะเลฝั่งตะวันตก...ที่บ้านในไร่ (ตอนจบ)

ภูเก็ตโพสต์  16 - 30  มิย 53

จากฉบับที่แล้วที่ออกไปเที่ยวทะเลฝั่งตะวันตกพร้อมกับความรู้สึก “คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล” กลับเข้ามาก่อนจะขึ้นฝั่ง บังดุกกลับเร่งเครื่องผ่านท่าเรือไป ทางซ้ายเป็นทะเลตะวันตก ทางขวาเป็นพื้นที่ๆ มีการถมดินเพื่อจะทำอะไรซักอย่าง

บังดุกบอกว่า “จะพาไปดูที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง”  ซึ่งฉันคิดว่าอาจจะเป็นที่ท่องเที่ยวสวยงาม...เมื่อจอดเรือก็ผิดคาด

พื้นที่ๆ เห็นตรงหน้า เป็นที่ดินวางเปล่าริมชายฝั่งมีร่องรอยของการถมดิน การปลูกต้นมะพร้าวต้นเล็กๆ แต่ยังพอมองออกว่าก่อนที่จะมีการถมดินน่าจะเป็นป่าชายเลนมาก่อน

ฉันหันไปมองบังดุก ดวงตามีแววสงสัย

“มีนายทุนออกเอกสารสิทธิตรงนี้เป็น นส.3ก. พื้นที่  59.2 ไร่ ชาวบ้านที่นี้ไม่ยอมและคัดค้านตลอด บางครั้งชาวบ้านก็โดนข่มขู่ มีหลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ แต่ก็ไม่คืบหน้า ตอนนี้ชาวบ้านยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองแล้ว”

ออกเอกสารสิทธิได้อย่างไร พื้นที่ตรงหน้าเป็นป่าชายเลนชัดๆ ทำอย่างนี้ได้อย่างไรกัน กฎหมายกลายเป็นกระดาษเปล่าๆ ไปแล้วหรือ?

แต่แล้วความจริงๆ ก็คือความจริง ฉันระลึกได้ว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ใกล้เคียงที่ตกอยู่สภาพเดียวกันไม่ว่าจะเป็นบ้านย่าหมี อ.เกาะยาว  บ้านทับตะวัน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา  หรือ บ้านกู้กู อ.เมือง จ.ภูเก็ต มีการบุกรุกเปลี่ยนแปลงสภาพและออกเอกสารครอบครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจะเพิกเฉย!?

ฉันเดินกลับขึ้นฝั่งพร้อมตัวที่เบาหวิว มีคำถามมากมายเกิดขึ้นในใจ แต่แน่ใจได้ว่าหากถามใครแถวนี้คงจะไม่ได้คำตอบ...

ฉันอาบน้ำชำระล้างร่างกาย แต่คำถามต่างๆ ยังวนเวียนอยู่ในหัว

อาหารมื้อเย็นวันนี้มีหลายอย่างทุกอย่างล้วนมีส่วนผสมของกุ้งเคย ไม่ว่าจะเป็น กุ้งเคยคั่ว  ผัดผักใส่กุ้งเคย  ไข่เจียวใส่กุ้งเคย  และน้ำพริกกะปิ

บังดุกเล่าว่า “ช่วงนี้กุ้งเคยกำลังขึ้น กุ้งเคยที่ได้มาทั้งหมดเอาไปทำเคย แบ่งนำมาทำกับข้าวนิดหน่อย”
“เคย” ที่บังดุพูดถึงหมายถึง “กะปิ”
ฉันหยิบกุ้งเคยคั่วขึ้นมาดู เพราะรู้สึกว่า กุ้งเคยทะเลฝั่งตะวันตกตัวใหญ่กว่ากุ้งเคยในอ่าวพังงา
ใช่...กุ้งเคยมีขนาดใหญ่กว่าจริงๆ ถ้าไม่สังเกตจะดูไม่ออก

อาหารทุกอย่างหมดเกลี้ยงไม่ใช่เพราะหิวหน้ามืดตาลาย แต่เพราะความหวาน สดของกุ้งเคยรวมกับฝีมือปรุงรสอันเป็นเลิศของแม่บ้านคนเดียวในดวงใจของบังดุก

ก่อนจะเข้าสู่ห้วงนิทราที่แสนสุข...ฉันคิดถึงคำถามที่ยังคาใจ...

เป็นเพราะชาวบ้านเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีพลังอำนาจ (เงิน) หรือไรจึงไม่มีหน่วยงานไหนใส่ใจดูแลและปกป้องความถูกต้อง?

แต่ก็อดนึกถึงข่าวพาดหัวทางหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาไม่ได้ ขนาดนักข่าวโดนคนของผู้มีอิทธิพลประจำถิ่นชกในวันที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเดินทางมาตรวจราชการที่อำเภอท้ายเหมือง... นับประสาอะไรกับคนตัวเล็กตัวน้อย...ใครจะออกมาปกป้อง

จะมีแต่ชาวบ้านที่เป็น “ปลาเป็น” ว่ายทวนน้ำ ออกมาปกป้องทรัพยากรในบ้านตนเอง

ส่วน “ปลาตาย” ที่ว่ายตามน้ำอย่างหน่วยงานราชการบางแห่งก็ต้องตายลอยน้ำไป...

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: