homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ผังเมืองภูเก็ต ใครเป็นผู้กำหนดการใช้ประโยชน์?

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-31 สิงหาคม 2553

                ทราบไหมว่าพื้นที่ๆ ท่านยืนอยู่ทุกวันนี้ ทำไมพื้นที่ตรงนี้จึงกลายเป็นสถานที่ประชุมระดับโลกได้ ทั้งๆ ที่เป็นเขตอนุรักษ์เต่าทะเลแห่งเดียวของจังหวัดภูเก็ต?       ทำไมพื้นที่เขตคุ้มครองทรัพยากรชายฝั่ง จึงมีการก่อสร้างโรงแรมระดับ 6 ดาว? หรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จึงกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร

                นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมาการวางแผนทำผังเมืองของกรมโยธาธิการปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดการใช้พื้นที่  ผังเมืองจังหวัดภูเก็ตได้กลายเป็นเครื่องมือของคนที่แสวงหาผลประโยชน์ในจังหวัดภูเก็ตมากกว่าจะเป็นผังเมืองเพื่อคนภูเก็ตอย่างแท้จริง

                วันที่ 4 ก.ค.และ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการวางแผนคุ้มครองพื้นที่ของชุมชนจังหวัดภูเก็ต กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ เป็นการสัมมนาวางแผนกำหนดการใช้ประโยชน์ (ผังเมือง) จ.ภูเก็ตเพื่อเป็นข้อเสนอต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นเวทีภาคประชาชน อันประกอบไปด้วย เครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง ชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านกู้กู เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากร ตำบลอ่าวป่าคลอก กลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านเกิด กลุ่มประมงพื้นบ้านมอแกลนแหลมหลา-ท่าฉัตรไชย เครือข่ายสิทธิคนจนภูเก็ต ชมรมสุขพัฒนาภูเก็ต สถาบันประชาคมจังหวัดภูเก็จ กลุ่มอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต และนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน

            ถือว่าเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น ความต้องการของคนรากหญ้า เพื่อจะบอกกล่าวกับหน่วยงานที่จะแก้ไข ปรังปรุงผังเมือง จ.ภูเก็ต ว่า “ประชาชนชาวภูเก็ตต้องมีส่วนร่วมวางแผนผังเมืองจังหวัดภูเก็ต” เพราะคนภูเก็ตเป็นผู้ใช้ประโยชน์ จึงต้องมีส่วนในการกำหนดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่

                ผังเมืองที่ใช้ในปัจจุบันเป็น ผังเมืองรวมเกาะภูเก็ต พ.ศ. 2548 ซึ่งกำลังจะหมดอายุในปี 2553 นี้ จู่ๆ ก็มี ร่างผังเมืองภูเก็ตโผล่มาอีก 2 ฉบับๆ แรกคือ ร่างผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต ปี พ.ศ.ใดไม่ระบุ
และฉบับที่สอง ร่าง ผังเมืองรวมเกาะภูเก็ต ปี พ.ศ.ใดไม่ระบุเช่นกัน

                สรุปว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองจะใช้ร่างผังเมืองฉบับใดกันแน่?

                ตัวแทนของเจ้าหน้าที่ผังเมืองได้ชี้แจงว่า ขณะนี้กำลังปรังปรุงผังเมือง จ.ภูเก็ตอยู่ และเมื่อดำเนินการสิ้นเสร็จแล้ว จ.ภูเก็ตจะมีผังเมืองฉบับเดียว

                ผังเมือง จ.ภูเก็ต จะมีหนึ่งหรือสองฉบับอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญที่สุด ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือเรื่องการใช้ “สี” ในพื้นทีต่างๆ ตลอดจนการเขียนชี้แจงในรายละเอียดพื้นที่แต่ละประเภทค่อนข้างคลุมเครืออย่างมาก ไม่แน่ใจว่า ตั้งใจเขียนให้คลุมเครือหรือเป็นเพราะการใช้ภาษาไทยบกพร่อง?

                เช่น ในพื้นที่ สีฟ้ามีเส้นทะแยงสีขาว หมายถึง ที่โล่งเพื่อนันทนาการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล ในรายละเอียดเขียนว่า เว้นแต่โครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต ซึ่งจะทำให้เกิดการตีความที่คลุมเครือว่า เป็นการยกเว้นไม่ให้โครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต หรือ อาจตีความได้ว่าหากมีโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่านันทนาการ การรักษาสิ่งแวดล้อม สาธารณประโยชน์

                หลายปีมานี้จังหวัดภูเก็ตประสบกับปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรทั้งทางบก ชายฝั่งและทะเล เช่น การปล่อยให้มีการก่อสร้างบนภูเขาสูงชัน การก่อสร้าง ขุดและถมบริเวณเขตพื้นที่คุ้มครองชายฝั่งทำให้ตะกอนดินไหลลงสู่ทะเลทำให้ปะการังและหญ้าทะเลเสื่อมโทรมและตายในที่สุด ทั้งยังส่งผลกระทบไปสู่สัตว์ทะเลอนุรักษ์ เช่น เต่าทะเลหรือพะยูน นอกจากนี้ยังเผชิญกับปัญหาขยะล้นเกาะภูเก็ตอีกด้วย

            นั่นเป็นเพราะการวางผังเมืองที่เขียนข้อกำหนดอย่างคลุมเครือและไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด อีกทั้งสามารถตีความไปในทิศทางที่ทำลายชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ตลอดจนไม่ได้ใส่ใจและไม่ได้ให้ความสำคัญประเด็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้และพื้นที่คุ้มครองชายฝั่งทะเลอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติระดับโลก

                การวางผังเมืองที่ดีควรเริ่มจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เพราะประชาชนในพื้นที่รู้ดีว่าตรงไหนควรจะพัฒนาในทิศทางใด พื้นที่ตรงไหนควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร และรู้ดีว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวของชาวภูเก็ตต้องควบคู่ไปกับการดูแล จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาภูเก็ตที่ยั่งยืนต่อไป 

สุจารี  ไชยบุญ    องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: