สิทธิชุมชน สิทธิของชุมชนต้องให้การยอมรับ
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 กันยายน 2553
สิทธิชุมชน เป็นคำที่ได้ยินและคุ้นหูมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และพูดการอย่างแพร่หลายทุกวงการ เป็นวาทะกรรมที่ผู้พูดเองมีทั้งเข้าใจและไม่เข้า แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจคำว่า สิทธิชุมชน
กลางเดือนที่ผ่านมาฉันได้เข้าร่วมสัมมนาพัฒนาองค์ความรู้สิทธิชุมชน ที่กรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาแนวคิดทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิ การยอมรับและบังคับใช้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลและยั่งยืนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปใช้ได้จริงในสังคมไทยอย่างมีประสิทธิ รวบรวมมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้รับจากเวทีไปผลักดัน เคลื่อนไหวทางวิชาการและสังคม เพื่อใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย และเพื่อให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 66 และมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้รับการยอมรับและบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม
เสน่ห์ จามริก ให้ความหมายของ สิทธิชุมชน คือ การให้ชุมชนชาวบ้านมีสิทธิในการเลือกอนาคตของตัวเอง เป็นตัวของตัวเองเป็นอิสระโดยตัวเองในสถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านจำเป็นต้องเรียนรู้ชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ ต้องเรียนรู้สิ่งที่จะเชื่อมสิ่งที่เขามีอยู่กับความต้องการ เท่าทันที่จะปกป้องสิทธิของเขา
แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 เพื่อให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงชุมชนยังถูกละเมิดสิทธิและไม่ได้รับการยอมรับสิทธิชุมชนนั้นโดยชอบธรรม
อ่าวป่าคลอก บ้านป่าคลอก จ.ภูเก็ตและอ่าวคลองสน บ้านย่าหมี จ.พังงา มีแหล่งหญ้าทะเลเป็นเขตคุ้มครองทรัพยากรโดยกรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่งทะเล แต่กลับถูกละเมิดสิทธิโดยหน่วยงานของรัฐที่อนุญาตให้มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญในเขตคุ้มครองดังกล่าว ทั้งที่ชุมชนได้คัดค้านและมีหลักฐานผลกระทบทางวิชาการก็ไม่มีหน่วยงานใดฟังเสียงชุมชน หนำซ้ำยังอ้างเรื่องการตอบสนองต่อนโยบายการท่องเที่ยว
นั่นเป็นภาพสะท้อนความไม่เข้าใจเรื่อง สิทธิชุมชน ในขณะที่ชุมชนท้องถิ่นตระหนักและเข้าใจถึงสิทธิของตนเองมานาน ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เสียอีก
กรณีที่ตัวแทนชุมชนบ้านป่าคลอก จ.ภูเก็ต บ้านย่าหมี จ.พังงา 2 ชุมชนชายฝั่งอันดามันที่เข้าร่วมเวทีสิทธิชุมชน ได้บอกเล่าการต่อสู้ ปกป้องและฟื้นฟูป่าชายเลนในชุมชนตัวเอง ชุมชนแรกปกป้องป่าชายเลนจากนายทุนเพื่อจะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และชุมชนหลังปกป้องป่าชายเลนให้รอดพ้นจากการตัดไม้เพื่อเผาถ่าน หรือแม้กระทั่งชุมชนอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมในเวทีที่กรุงเทพฯ ก็ได้แสดงให้หน่วยงานรัฐและทุกคนเห็นว่าได้รู้จักสิทธิชุมชนมานานแล้วเช่นกัน อย่างเช่น ชุมชนใน ต.บางเตย เป็นพื้นที่ในเขตสัมปทานเหมืองแร่และซ้ำด้วยการให้สัมปทานเตาถ่าน เมื่อทรัพยากรที่เปรียบเสมือนหม้อข้าวต้องสูญสิ้น ชุมชนต้องลุกขึ้นยึดพื้นที่ป่าและฟื้นฟูป่าชายเลนจากนั้นทำเป็นป่าชายเลนชุมชนเพื่อชุมชน จัดการดูแลโดยชุมชน กฎระเบียบเกิดจากชุมชน
ตัวแทนองค์กรชุมชนจาก จ.นครศรีธรรมราชบอกว่า สิทธิชุมชนจะเกิดก็ต่อเมื่อเกิดการทำลายทรัพยากรและชาวบ้านต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรเหล่านั้น หากทบทวนคิดย้อนกลับไปก็พบว่าจริง จะเห็นได้ว่านโยบายต่างๆ ที่กระทำต่อทรัพยากรธรรมชาติล้วนเป็นสิ่งที่ทำลายทรัพยากรและทำร้ายชุมชน ซึ่งขัดต่อสิ่งที่ชุมชนกระทำ
การทำลายทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนภายใต้นโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐถือประสบการณ์ที่เจ็บปวดและเลวร้าย ปรากฏการณ์ที่ชุมชนปกป้องทรัพยากรในอดีตได้สะท้อนความคิดอันทันสมัย เรื่อง สิทธิชุมชน แม้ว่าชาวบ้านในชุมชนจะได้รับการศึกษาน้อยก็มิได้หมายความว่าความคิดอ่านจะด้อยตามไปด้วย
สุจารี ไชยบุญ องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |