รู้เรื่องสัตว์ทะเลหายาก
รายงานโดย : กวินทรา ใจซื่อ
เจ้าหน้าที่ภาคสนามโครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
มาเที่ยวทะเลครั้งนี้ ถ้าได้เห็นโลมาสักครั้งก็คงดีนะ คิดว่าหลายคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวทางทะเลคงเคยคิดกันบ้าง ซึ่งก็มีหลายคนที่โชคดีมีโอกาสได้พบเห็นสัตว์ทะเลหายาก แต่บางคนเที่ยวทะเลมาหลายครั้งก็ยังไม่เคยมีโอกาสเห็นสักครั้งเดียว
โลมา วาฬ พะยูน และเต่าทะเล จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย พบในทะเลอันดามันและอ่าวไทย สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้มีโอกาสพบเห็นในธรรมชาติได้น้อย จำนวนประชากรมีไม่มากนัก และมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์แล้วทั้งสิ้น
จังหวัดภูเก็ตถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางข้อมูลสัตว์ทะเลหายาก โดยศูนย์ข้อมูลตั้งอยู่ที่อาคารบุญเลิศ ผาสุข ภายในสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต (Phuket Marine Biological Center) โดยมีอาจารย์กาญจนา อดุลยานุโกศล เป็นหัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก งานหลักที่ทางกลุ่มฯได้ดำเนินการอยู่คืองานสำรวจและวิจัยสัตว์น้ำหายาก การให้ความช่วยเหลือหน่วยงานย่อยในกรณีการพบเห็นสัตว์น้ำเกยตื้น การชันสูตรซากสัตว์ทะเลที่ได้รับแจ้ง โดยการดำเนินงานทั้งหมดนั้น ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากที่เหลืออยู่
อาจารย์กาญจนา เล่าถึงสถานการณ์สัตว์น้ำหายากในประเทศไทยว่า งานที่ทางกลุ่มฯได้ดำเนินการสำรวจนั้น เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ถึงปัจจุบัน ในทะเลไทยพบวาฬและปลาโลมาที่อยู่กลุ่มเดียวกัน มีทั้งหมด 23 ชนิด ซึ่งได้จากตัวอย่างเกยตื้น ตัวอย่างโครงกระดูก และจากการสำรวจ สำหรับฝั่งทะเลอันดามันนั้น ยังไม่ทราบจำนวนประชากรโลมาและวาฬยังที่แน่ชัด เพราะสัตว์เหล่านี้อยู่ในทะเลเปิด จะว่ายน้ำหากินไปเรื่อยๆ ที่พบเห็นเป็นประจำคือ บริเวณเกาะไข่ เกาะยาว เกาะไม้ท่อนและเกาะราชา เป็นต้น โดยเฉพาะบริเวณเกาะไข่ จะพบเห็นโลมาอยู่เป็นประจำ ประมาณ 15-20 ตัว หากนักท่องเที่ยวไม่รบกวนหรือทำให้ตกใจก็จะว่ายน้ำหากินอยู่ใกล้ๆ
นอกจากนี้ยังพบเห็นวาฬบรูด้า วาฬเพชรฆาตและวาฬเพชรฆาตดำในทะเลเปิด และบริเวณเกาะราชาประมาณ 4-5 ตัว แต่ไม่เห็นประจำ ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะว่ายน้ำหากินไปเรื่อยๆ
ที่น่าสนใจคือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ทางสถาบันฯได้ร่วมกับนักวิจัยชาวญี่ปุ่นตรวจสอบซากกะโหลกของสัตว์ทะเลหายาก ในพื้นที่จังหวัดชายทะเลได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลา จากเดิมที่ทางสถาบันสำรวจพบนั้นมีวาฬบรูด้าเพียงชนิดเดียว แต่หลังจากที่ได้สำรวจและศึกษาซากกะโหลจำนวน 50 กะโหลกแล้ว พบว่าสามารถแยกชนิดของวาฬบรูด้าได้พิ่มเป็น 3 ชนิด ตัวเดียวที่พบเห็นว่ามีขนาดที่สุด พบที่พิพิธภัณฑ์ภายในวัดพระศรีมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช คาดว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดเกือบ 100 ปี
สัตว์ทะเลหายากอีกชนิดหนึ่งคือ เต่าทะเล ในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด คือ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวฆ้อน และเต่าตนุ ประชากรของเต่าทะเลโดยทั่วไปเหลืออยู่น้อยมาก ทางฝั่งทะเลอันดามันในอดีตมีแหล่งวางไข่แหล่งใหญ่ที่หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ชายหาดในจังหวัดภูเก็ต และเกาะแก่งต่างๆ สาเหตุที่เต่าลดจำนวนลงอย่างมากเป็นเพราะพื้นที่วางไข่เต่าทะเลลดน้อยลงหรือถูกรบกวน และมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไข่เต่าถูกทำลายและเต่าทะเลบางส่วนติดเครื่องมือประมง
ส่วนพะยูนนั้นอาจารย์กาญจนาได้ทำการศึกษอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปีแล้ว ทุกวันนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพะยูนคนหนึ่งของเมืองไทย อาจารย์กาญจนาได้พูดถึงสถานการณ์พะยูนว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรพะยูนในประเทศไทยเหลืออยู่ประมาณ 250 ตัว โดยทางฝั่งทะเลอันดามันพบในจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง รวมแล้วประมาณ 200 ตัว ส่วนทะเลฝั่งอ่าวไทย พบพะยูนที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี มีประมาณ 50 ตัว พื้นที่ของประเทศไทยที่พบพะยูนอาศัยมากที่สุด คือ บริเวณเกาะมุกและเกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งจากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2543 พบพะยูนอยู่ประมาณ 123 ตัว
ถึงทุกวันนี้พะยูนในประเทศไทยยังมีสถานะเป็นสัตว์สงวนที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ที่สำคัญคือแทบไม่มีใครรู้ข้อมูลทางชีววิทยาของพะยูนมากนัก ไม่ว่าพื้นที่อยู่อาศัย พฤติกรรมการอพยพย้ายถิ่น การเกี้ยวพาราสี การสืบพันธุ์ หรือการเลี้ยงลูก จากสาเหตุดังกล่าวนี้จึงทำให้อาจารย์กาญจนาสนใจเกี่ยวกับการติดเครื่องหมาย (tag) พะยูน ซึ่งเป็นเครื่องมือติดตามพฤติกรรมของพะยูนที่สามารถตรวจจับด้วยระบบดาวเทียม ขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดผลกระทบ ผลดี ผลเสียของเครื่องมือที่จะเกิดกับพะยูน ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ท้าทายและอันตราย เพราะเราต้องจับพะยูนมาติดเครื่องหมาย แล้วปล่อยกลับสู่ทะเล แต่พะยูนเป็นสัตว์ที่ขี้กลัว ใจเสาะ หากตกใจมากก็จะเกิดอาการช๊อคและตายได้ง่าย ฉะนั้นการจับพะยูนไม่ใช่เรื่องสนุก แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายด้วย
ท้ายที่สุดอาจารย์กาญจนามีความเห็นว่า ในจังหวัดภูเก็ตเอง ถึงแม้ว่าจะทวนกระแสของการพัฒนาไม่ไหว แต่ต้องถามทั้งชาวภูเก็ตหรือแม้แต่พื้นที่อื่นเองว่าต้องการอะไร ต้องการการพัฒนาหรือทรัพยากร สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี การท่องเที่ยวนำกำไรมาให้ประเทศชาติจำนวนมหาศาลเห็นเม็ดเงินชัดเจนว่าเข้ามาปีละเท่าไร แต่คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เสียไปไม่เห็นมูลค่าที่ชัดเจน คนเข้ามาอยู่แย่งกันกินกันใช้ แต่ทิ้งไว้ทั้งของเสีย ขยะ ทรัพยากรที่เสียหาย อนาคตข้างหน้า ทรัพยากรทั้งปะการัง ป่าชายเลน หรืออื่นๆ เงินจำนวนมากมายมหาศาลไม่สามารถทำให้ธรรมชาติคืนมาสมบูรณ์ได้ มีแต่คนพูดว่านักท่องเที่ยวนำเงินมาให้แต่ไม่มีใครพูดว่า ธรรมชาติถูกทำลายไปเท่าไร
ขอขอบคุณ
อาจารย์กาญจนา อดุลยานุโกศล หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต
ชาวประมงพื้นบ้านเกาะยาวน้อย
ข้อมูลจาก
พะยูนและการอนุรักษพะยูนในประเทศไทย สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต
www.onep.go.th
www.sciinaction.com
|