เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านกับชาวบ้านที่มีชื่อแต่ไม่มีตัว (จบ)
ภูเก็ตโพสต์ 16-30 พฤศจิกายน 53
เรื่องการนำบุคคลอื่นเข้าอยู่ในชุมชนเมื่อใกล้ถึงการเลือกตั้งต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ เป็นเรื่องที่ได้ยินบ่อยๆ เกือบจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ ...การย้ายบุคคลอื่นเข้ามาอยู่ในชุมชนที่เป็นไปด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ เมื่อส่อแววทุจริตเช่นนี้ ชุมชนมิอาจนิ่งดูดายได้
ดังเช่นที่บ้านย่าหมี หมู่ 3 ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ชาวบ้านพากันไปร้องเรียนต่อนายอำเภอเกาะยาวเพื่อขอให้ตรวจสอบรายชื่อบุคคลอื่น จำนวน 73 ราย ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเพื่อจะมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านย่าหมี จากการตรวจสอบพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นว่า บุคคล 72 รายไม่อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านย่าหมี จึงถือว่าไม่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำในพื้นที่เพราะภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดาได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ เมื่อบุคคลดังกล่าวไม่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำ แม้จะมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก็ถือว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 11 (4) แห่ง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ส่วนอีก 1 รายนั้นอาศัยอยู่ในชุมชนจริง ถือว่ามีภูมลำเนาอยู่ในพื้นที่ จึงไม่ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด และได้ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านย่าหมีออกไป และมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านย่าหมีเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
อยากจะชี้ให้เห็น 2 เรื่อง ประเด็นแรกคือการที่ชาวบ้านในชุมชนไม่นิ่งดูดายต่อพฤติกรรมที่ส่อเจตนาทุจริตของกลุ่มทุนที่อาศัยช่องทางกฎหมายแสวงหาผลประโยชน์ (แม้ว่าจะดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ) และร่วมกันร้องเรียนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดำเนินการตรวจสอบหาความจริง ชุมชนทุกๆ ชุมชนไม่ควรเพิกเฉยและต้องใช้สิทธิในการตรวจสอบเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากลทุกๆ กรณี เพราะหากเมินเฉยไม่รู้ไม่สนใจ เหตุการณ์เหล่านั้นจะย้อนกลับมาทำร้าย ทำลายชุมชนให้ล่มสลาย เมื่อถึงวันนั้น...ก็คงสายเสียแล้วที่จะแก้ไขอะไรต่อมิอะไร
อีกประเด็นหนึ่งคือ กลุ่มทุนมักจะทำให้ชาวบ้านเกรงกลัว ท้อแท้ ต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนด้วยการใช้ช่องทางกฎหมายในการฟ้องร้องชาวบ้านให้ขึ้นศาล จากเหตุการณ์ย้ายบุคคลอื่นเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านย่าหมีและทางอำเภอเกาะยาวได้มีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อจำนวน 72 ราย ไปนั้น บุคคลที่ไม่ได้ถูกเพิกถอนรายชื่อ ซึ่งเป็นคนงานทำงานให้กับกลุ่มทุนไปแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย แน่นอนว่า คนที่แจ้งความกล่าวหาชาวบ้านย่าหมียอมไม่ใช่คนบ้านย่าหมี เพราะคนบ้านย่าหมีอยู่กันอย่างสงบสุข หากขัดแย้งกัน...ไม่ว่าจะอย่างไร พี่น้องกันตัดไม่ตาย ขายไม่ขาด เพราะสานสัมพันธ์กันด้วยระบบเครือญาติ
แน่นอนว่า คนที่แจ้งความกล่าวหาชาวบ้านย่าหมีนั้นย่อมไม่ได้เกิดและเติบโตที่บ้านย่าหมี อีกทั้งเพิ่งเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านย่าหมีได้ไม่กี่ปีเท่านั้น
ประเด็นก็คือ...การให้คนงานไปฟ้องร้องชาวบ้านให้เกิดเป็นคดีความต้องขึ้นโรงขึ้นศาลนั้นจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและน่าหวาดเกรงสำหรับชาวบ้านทุกคน เพราะอำนาจตุลาการไม่ใช่เรื่องล้อเล่น นั้นก็เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง หากการที่ชาวบ้านร้องเรียนให้ตรวจสอบรายชื่อบุคคลอื่น เพื่อใช้สิทธิและหน้าที่ของคนในชุมชนและทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์จึงไม่จำเป็นต้องกลัว...คนที่ต้องกลัวเกรงและละอายต่อบาปก็คือคนที่มีเจตนาทุจริต!
หลายๆ ชุมชนที่ถูกกลุ่มทุนใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการคุกคามชาวบ้าน การขึ้นศาลครั้งแล้วครั้งเล่าเรื่องราวไม่จบไม่สิ้นเสียที่ ในที่สุดชาวบ้านก็จะเหนื่อย เบื่อ อ่อนล้าและล่าถอยไปเอง...ความคิดนั้นเก่าและล้าหลังเต็มที เพราะในยุคที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 2550 (แม้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบก็ตาม) และมีแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแล้วยิ่งทำให้ชาวบ้านมีความรู้มากขึ้น การเข้าถึงสิทธิของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป ฉะนั้นการร้องเรียนให้ทางอำเภอเกาะยาวตรวจสอบรายชื่อดังที่กล่าวไปแล้วนั้นจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้เป็นเรื่องปกติ
...คนจนไม่ได้หมายความว่าเป็น คนโง่ แต่ คนโง่ ก็คือคนที่คิดว่าตนเองฉลาด
สุจารี ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |