homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

หอมกลิ่นน้ำมันมะพร้าวที่บ้านท่าไร่

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-30 กันยายน 2553

      

รู้จักมะพร้าวกันใช่ไหม? เคยใช้น้ำมันมะพร้าวกันบ้างหรือเปล่า? ถ้าคำตอบของคุณคือยังไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าว ฉบับนี้ฉันจะพาคุณไปสัมผัสกลิ่นน้ำมันมะพร้าวในอีกความรู้สึก

            ในชีวิตของฉันเคยใช้ผลิตจากมะพร้าวเพียงไม่กี่อย่าง ซึ่งเป็นอย่างที่ทุกคนรู้ คือ กะทิและน้ำมะพร้าว ส่วนน้ำมันมะพร้าวนั้นไม่เคยอยู่ในความคิด เพราะคิดว่ากลิ่นเหม็นและเลี่ยน แท้ที่จริงฉันได้ใช้ความรู้สึกที่ผิดเหล่านั้นบดบังสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง

            ฉันไปหมู่บ้านท่าไร่ หมู่ที่ 5 ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา เพื่อจะไปสำรวจการใช้ประโยชน์และความหลากหลายทางชีวภาพจากคลองพังงา ก่อนเดินทางสำรวจได้พบกลับกลุ่มสตรีที่รวมกันทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งเป็นกลุ่มสตรีกลุ่มเล็กๆ

            น้ำมันมะพร้าวผลิตด้วยวิธีการสกัดเย็น (Cold Process) ซึ่งเป็นกระบวนการไม่ผ่านความร้อนทุกขั้นตอนการผลิตจึงทำให้สารอาหารที่มีอยู่ในน้ำมันมะพร้าวคงสภาพเดิม เป็นน้ำมันมะพร้าวที่บริสุทธิ์ สีใส กลิ่นหอมของมะพร้าวตามธรรมชาติ ไม่เหม็นหืน ไม่เหม็นเปรี้ยว

            หลังจากวันนั้นฉันกลับไปที่บ้านท่าไร่อีกครั้งเพื่อสนทนากับกลุ่มสตรีกลุ่มนี้ เมื่อถามถึงเหตุผลที่ลุกขึ้นมาทำน้ำมันมะพร้าว นางรอฟะ วาหะรักษ์ ประธานกลุ่มน้ำมันมะพร้าวบ้านท่าไร่ เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “พวกเราอยู่บ้านเฉยๆ คิดว่าจะลองทำเพื่อเป็นอาชีพเสริม มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ เริ่มแรกมีเพียง 10 กว่าคน ในปัจจุบันมีสมาชิก 25 คน ก่อนจะทดลองทำพวกเราไปดูงานที่ จ.สงขลามีกลุ่มสตรีทำน้ำมันมะพร้าวเหมือนกัน พอกลับมาบ้านสมาชิกมาลงหุ้นกันแล้วลองทำดูก่อน พอได้ตามสูตรแล้ว ก็ลองทำขาย แล้วพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น กำไรที่ได้ก็ไม่ได้มากนัก ตอนนี้เราไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้ว”

            ผลกำไรที่ได้ไม่ได้มากมายถึงขนาดคืนทุนในทันทียังอยู่ในหลักร้อยต้นๆ แน่นอนว่าผลกำไรเพียงเท่านี้ไม่ทำให้สมาชิกของกลุ่มพอใจและยังชีพอยู่ได้ เมื่อฉันได้ชวนคุยต่อไปก็พบว่า กลุ่มสตรีเล็กๆ กลุ่มนี้อยู่ภายใต้กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านท่าไร่ นั้นหมายความว่ากลุ่มสตรีเป็นสมาชิกของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านท่าไร่ด้วย

            การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านท่าไร่และกลุ่มสตรีฯ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอ็อกแฟม องค์การไฮเฟอร์ โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด การเสริมศักยภาพความรู้ความสามารถให้กับแกนนำและสมาชิก ตลอดจนการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่กิจกรรมของชุมชน ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้มุ่งหวังเพื่อทำให้กลุ่มอนุรักษ์ฯ และกลุ่มสตรีฯ สามารถพึ่งตนเองได้บนพื้นฐานของการดูแลและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีใช้อย่างยั่งยืน

            น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น อุดมไปด้วยกรดลอริค (Lauric Acid) เป็นสารตัวเดียวกันที่พบในน้ำนมมารดา ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการเสริมสุขภาพความงาม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคอีกด้วย รวมทั้งมีวิตามินอี (Vitamin E) ในปริมาณสูง ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณและช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังเป็นน้ำมันพืชที่มีปริมาณคลอเรสเตอรอลน้อยที่สุด  ดังนั้น "น้ำมันมะพร้าวไม่ใช่ยา แต่เป็นอาหารที่มีฤทธิ์เป็นยา"

            แต่น้ำมันมะพร้าวที่บ้านท่าไร่มีคุณสมบัติที่พิเศษและแตกต่าง...ต่างตรงที่ “คนผลิตน้ำมันมะพร้าว” น้ำมันมะพร้าวแต่ละหยดที่สกัดออกมาได้ใส่หัวใจสาธารณะ...หัวใจแห่งการอนุรักษ์ป่าชายเลนที่เป็นทรัพยากรสาธารณะที่พวกเขาและเธอช่วยกันดูแลให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชุมชน การใช้น้ำมันมะพร้าวบ้านท่าไร่ก็เท่ากับเป็นการอนุรักษ์ป่าชายเลนด้วยเช่นกัน

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: