นักสำรวจชุมชน : ดำน้ำดูบ้านปลา
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-28 กพ. 54
บ้านปลา หลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่ถ้าบอกว่า ปะการังเทียม จะเข้าใจได้ทันที
บ้านปลาของชุมชนบ้านเกาะเคี่ยม-ท่าไร่ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา ให้นิยามความหมาย คือ ที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ บ้านปลาที่นี่ทำจากยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้วนำมาผูกติดกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ลักษณะของบ้านปลาที่นี่เป็นผลมาจากการปรึกษาหารือและออกแบบบ้านปลาร่วมกันของสมาชิกในชุมชน
ยามบ่ายๆ ของวันศุกร์ เรา หมายถึงฉันและเพื่อนผู้ซึ่งมาร่วมดำน้ำและสอนหลักการเก็บข้อมูลสัตว์น้ำให้แหล่งบ้านปลา เพื่อเก็บข้อมูลเชิงสถิติเปรียบเทียบบริเวณบ้านปลา
เราทั้งสองขับรถฝ่าสายฝนที่เริ่มตกหนักมาตั้งแต่เข้าสู่เมืองพังงาตลอดเส้นทาง เมื่อเลี้ยวรถเข้าเขตหมู่บ้านเขาเฒ่าฝนเริ่มขาดสายและเมื่อจอดรถที่หมู่บ้านเกาะเคี่ยม-ท่าไร่พบว่าฝนไม่ตกเลยแม้แต่หยดเดียว!
อากาศยามเย็นแดดร่ม ลมนิ่งสงบกำลังดี เงาสะท้อนป่าชายเลนกับพื้นน้ำสวยราวกับภาพวาด ค่ำนี้เราและแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านเกาะเคี่ยม-ท่าไร่ต้องเรียนรู้เรื่องหลักการเก็บข้อมูลสัตว์น้ำบริเวณบ้านปลา จากนั้นช่วยกันระดมสัตว์น้ำที่อาศัยและชาวประมงเคยเห็นและจับได้ พบว่ามีปลาที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านปลาไม่ต่ำกว่า 30 ชนิด เช่น ปลาแป้นปากหมู ปลาดอกหมากครีบสั้น ปลาดอกหมากกระโดง ปลากะพงเหลืองข้างปาน ปลากะพงแดงข้างปานปลาช่อนทรายเงิน ปลาทราย ปลากระบอก นั่นยังไม่รวมสัตว์น้ำประเภทอื่น
ยามเช้าหลังจากทานขนมจีน ผัดหมี่แสนอร่อยพร้อมโกปี้ร้อนๆ ในหมู่บ้านแล้ว พวกเรานักสำรวจชุมชน 10 ชีวิตพร้อมกันที่สะพานท่าเรือเพื่อลงเรือเดินทางไปบ้านปลาที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ซึ่งใช้เวลา 20 นาที
พวกเราโชคดีมากที่เช้าวันนี้แดดไม่ร้อนมากอาจเป็นเพราะฝนตกเมื่อวานนี้ แต่ในใจภาวนาว่าไม่มีแดดและไม่มีฝน เพราะเรามีกิจกรรมสำคัญมากกว่ากลัวแดดและผิวคล้ำก็คือ การดำน้ำลงสำรวจบ้านปลาที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ ทำไว้เมื่อปี 2552
การดำน้ำของนักสำรวจชุมชนในวันนี้ย่อมต่างจากนักดำน้ำทั่วไปแน่นอน เรา...ทั้งฉันและเพื่อนตื่นเต้นที่จะได้ลองใช้อุปกรณ์ดำน้ำของมู่สา เก็บทรัพย์ หรือเราจะเรียกติดปากว่า บังมู่สา ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านเกาะเคี่ยม-ท่าไร่
อุปกรณ์ดำน้ำของบังมู่สาไม่มีถังอากาศ ไม่มีเสื้อ BCD มีก็แต่เครื่องลม สายยางที่มีความยาวมากกว่า 10 เมตร น้ำมันเอาไว้เติมเครื่องปั๊มลม และหน้ากากดำน้ำเชื่อมต่อด้วยสายยางเพื่อนำลมเข้าสู่หน้ากากสำหรับหายใจ และเพื่อนสาวที่เมื่อคืนทำหน้าที่วิทยากรในวันนี้ทำหน้าที่ช่างภาพใต้น้ำด้วยการดำน้ำตัวเปล่าลงไปถ่ายภาพบังมู่สาที่กำลังจดบันทึกสัตว์น้ำหลากหลายชนิดที่อาศัยบริเวณบ้านปลา
เวลาที่ฉันไปบ้านเกาะเคี่ยมท่าไร่และพูดถึงบ้านปลาครั้งใด บังมู่สามักจะเล่าเรื่องการใช้เครื่องลมดำน้ำสำรวจสัตว์น้ำว่า บังดำลงดูบ้านปลาบ่อยๆ จะได้รู้ว่ามีปลาเพิ่มขึ้นจริงมั้ย...มันมีปลามากขึ้นจริงแหละ ในคลองแถวๆ นี้บังดำน้ำมาหมดแล้ว
ชาวบ้านหลายคนยืนยันว่าจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น ทุกคนรู้ดีว่าเป็นผลมาจากการทำบ้านปลาและชุมชนมีการจัดการป่าชายเลนที่ดี ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือชุมชน
ฉันและเพื่อนมีโอกาสลองใช้อุปกรณ์ดำน้ำของบังมู่สาด้วย จะสนุก ตื่นเต้นแค่ไหน โปรดติดตามฉบับหน้า
สุจารี ไชยบุญ องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |