homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ไปเชียงราย : คุยรอบนอก

ภูเก็ตโพสต์  ฉบับ วันที่ 1-15  กพ. 54

   

แววตาอยากรู้แฝงความเนียมอายอยู่ในที เป็นแววตาของแม่อุ้ยชาวอาข่า 2 คน ที่มาร่วมวงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพึ่งตนเองที่หมู่บ้านรุ่งเจริญ จ.เชียงราย

กลุ่มพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดภูเก็ตและพังงาเดินไปเยี่ยมและแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับกลุ่มพึ่งตนเองซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่เชียงใหม่และเชียงราย ในวงคุยแลกเปลี่ยนดำเนินไปตามธรรมชาติ การแลกเปลี่ยนกันออกรสออกชาติเพราะชาวอาข่าบางคนฟังภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้นการคุยกันจึงต้องแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอาข่า และแปลจากภาษาอาข่าเป็นภาษาไทย

แม้ว่าการคุยกันของพี่น้องชาวบ้าน 2 กลุ่มกำลังสนุกแต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจกว่า... แม่อุ้ยชาวอาข่า 2 คน ที่มาร่วมวงคุยด้วย แม้ว่าจะฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ฉันรู้สึกสะดุดตา ประทับใจกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะร่วมกับการแลกเปลี่ยน

เมื่อคุยกันพอสมควรแล้ว พี่น้องชาวอาข่าได้พาผู้มาเยือนไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน ฉันเลือกเดินรั้งท้ายเพื่อที่จะได้คุยกับแม่อุ้ยทั้งสอง ซึ่งรู้อยู่แก่ใจว่าสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง...สำหรับมิตรภาพเราสื่อสารกันด้วยหัวใจ แต่โชคดีที่มีหนุ่มน้อยวัยประถมร่วมเดินมาด้วยกันทำหน้าที่แปลความให้ฉันได้สื่อสารกับแม่อุ้ยทั้งเข้าใจ ล่ามหนุ่มน้อยแปลความว่าแม่อุ้ยคนหนึ่งอายุ 73 ปี ส่วนแม่อุ้ยอีกคนหนึ่ง อายุ 60 กว่าปี ดุแล้วยังเดินกระฉับกระเฉงแข็งแรงทั้งคู่

แม่อุ้ยจูงมือฉันไปที่บ้าน ซึ่งเป็นกระท่อมมุงด้วยหญ้าแฝก ลูกสะใภ้นั่งเย็บหญ้าแฝงเป็นตับๆ เพื่อขายและใช้เองอยู่หน้าบ้าน ส่วนลูกชายออกไปทำงานยังไม่กลับ

ในระหว่างเดินจูงมือกันไปบ้านแม่อุ้ย วาบหนึ่งของความรู้สึกฉันคิดถึง “ย่า”
ย่าจูงมือฉันในวัยเด็กพาไปพาวัด ไปกินขนมจีนที่ร้านตบท้ายด้วยขนมครกโบราณสูตรดั้งเดิมที่แป้งข้าวเจ้าได้จากข้าวสารบดจากที่โม่หิน

ชาวอาข่าที่นี้ส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติ แม่อุ้ยทั้งสองนี้ด้วยเช่นกันทั้งๆ ที่ชาวอาข่าที่หมู่บ้านนี้อาศัยอยู่ในแผ่นดินมานาน แต่ทำไมทำราวกับว่าพวกเขาไร้ตัวตน?

ฉันคิดถึงพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปกป้องป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล ป่าสงวนแห่งชาติป่าต้นน้ำของชุมชน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือผู้ปกป้องกลายเป็นจำเลยบ้าง อยู่อย่างหวาดระแวงเพราะกลัวอิทธิพลของกลุ่มทุนบ้าง ถูกสังคมตราหน้าว่าขัดขวางการพัฒนาเป็นพวกถ่วงความเจริญ ตลอดจนการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบของหน่วยงานภาครัฐ

การเตะถ่วง เพิกเฉยหรือซื้อเวลาการแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าไม้ที่ดินของรัฐเป็นการกระทำต่อขบวนการภาคประชาชนที่ทำเสมือนว่าพวกเขานั้นไร้ตัวตน...

คนจนที่ถูกเบียดให้กลายเป็นคนชายขอบก็คือ “คน” มีสิทธิเท่าเทียมกับคนรวยและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่เพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหาของคนจน

สุจารี  ไชยบุญ    องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: