homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

การให้ (1)

ภูเก็ตโพสต์  16-31 มีนาคม 2554

“...คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้...” พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521

ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาเคยนับบ้างไหมว่าเราได้ “ให้” ผู้อื่นกี่ครั้ง บ่อยแค่ไหน การให้ที่พูดถึงนี้ไม่ได้หมายถึงการให้สิ่งของหากรวมไปถึงการให้ด้วยหัวใจ...จิตใจที่ดีงาม

ทบทวนแล้วจะพบว่าเรามักจะให้สิ่งของมากและบ่อยจนนับไม่ถ้วน แต่การให้ การแบ่งใจด้วยใจนั้นแทบจะนึกไม่ออกเลย

การให้ที่แท้จริงต้องเกิดจากความรู้สึก ความต้องการภายในใจของผู้ให้แล้วจึงแสดงการให้ด้วยสิ่งของหรือการแบ่งปันจิตใจ กำลังใจให้แก่กัน

อย่างเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นข่าวในขณะนี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นหลายวันแล้วความช่วยเหลือและ การให้ทั้งสิ่งของและกระแสน้ำใจยังทยอยส่งไปถึงประชาชนผู้ประสบภัยไม่ขาดสาย ไม่เพียงแต่จะให้ในช่วงเกิดเหตุการณ์คับขันและเดือดร้อนเท่านั้น เราสามารถแสดงออกถึงการให้ผู้อื่นในสถานการณ์ปกติได้อีกด้วยย่อมส่งผลดีไม่ต่างกัน

โครงการชุมชนชายฝั่ง พังงา-ภูเก็ต เพื่อการพึ่งตนเองเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ส่งเสริมเรื่องการให้หรือ “การส่งต่อหรือการส่งต่อของขวัญ” (Passing on the Gifts) ดำเนินโครงการกับชุมชนชายฝั่งเพื่อการพึ่งพาตนเอง7 กลุ่มในพื้นที่ จ.ภูเก็ตและพังงาภายใต้การสนับสนุนขององค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR)ร่วมกับองค์กรไฮเฟอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 โดยมีหลักการสำคัญคือ สมาชิกกลุ่มพึ่งตนเองจะต้องส่งต่อของขวัญที่ได้รับมาให้กับผู้อื่น นอกจากนั้นเราสามารถส่งต่อองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาให้กับผู้อื่นอีกด้วย เช่น กองทุนข้าวสารชุมชนในไร่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กองทุนข้าวสารชุมชนแหลมหลา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กลุ่มเลี้ยงเป็ดเทศบ้านกลาง บ้านในหงบ อ.เมือง จ.พังงา หรือกลุ่มธุรกิจชุมชน เป็นต้น

จะเห็นว่าสิ่งที่สมาชิกกลุ่มพึ่งตนเองจะส่งต่อหรือให้นั้นเป็นข้าวสาร สัตว์เลี้ยงพร้อมองค์ความรู้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่กลุ่มเริ่มต้นได้เรียนรู้ผิด-ถูกมาแล้ว และสรุปเป็นบทเรียน ถ่ายถอดประสบการณ์สู่กลุ่มรับต่อซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก (โปรดติดตามฉบับหน้า)

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: