homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

นักสำรวจชุมชน : ดำน้ำดูบ้านปลา(จบ)

ภูเก็ตโพสต์  1-15 มีนาคม 2554

“บ้านปลา” กับ “ปะการังเทียม” ในความรู้สึกของคนอื่นอาจจะเข้าใจความหมายไม่ต่างกัน    

แต่สำหรับฉัน “บ้านปลา” มีความหมายมากกว่าเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ มันมีความผูกพันภูมิปัญญาและบอกถึงลักษณะการใช้ประโยชน์ระหว่างชุมชนท้องถิ่น กับวัสดุที่ทำขึ้นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำ

บ้านปลาของชุมชนบ้านเกาะเคี่ยม-ท่าไร่ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา ที่นี่ทำจากยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้วนำมาผูกติดกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ลักษณะของบ้านปลาที่นี่เป็นผลมาจากการปรึกษาหารือและออกแบบบ้านปลาร่วมกันของสมาชิกในชุมชน

เรื่องราวจากตอนที่แล้ว ฉันทิ้งท้ายไว้ว่า ฉันและเพื่อนมีโอกาสลองใช้อุปกรณ์ดำน้ำของบังมู่สาด้วย จะสนุก ตื่นเต้นแค่ไหน ขอบอกว่าสนุกจริงๆ

ก่อนที่พวกเราจะได้ทดลองใช้เครื่องดำน้ำปั๊มลมนั้น นักสำรวจบ้านปลาชุมชนจะต้องทำการสำรวจสัตว์น้ำในแหล่งบ้านปลาเสียก่อน โดยแบ่งออกเป็น 2 ทีม คือทีมแรก นักตกปลา ใช้เรือ 1 ลำ วิธีการคือ ให้ทดสอบการตกปลาในบริเวณบ้านปลา จับใช้เวลา 1 ชั่วโมงแล้วนับปลาที่ตกได้มีกี่ตัว พันธุ์อะไรบ้าง

ส่วนทีมที่สองคือนักประดาน้ำประกอบด้วย 2 คน คือเพื่อนสาวของฉันที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากร คือ เพชรรุ่ง สุขพงษ์ เจ้าหน้าที่โครงการ IUCN ที่มาช่วยสอนเรื่องการติดตามสัตว์น้ำในแหล่งปะการังเทียม และบังมู่สา วิธีการคือ ให้บังมู่สาดำน้ำลงไปอยู่ใต้น้ำแล้วนับจำนวนและพันธุ์ปลา ส่วนเพชรรุ่งดำน้ำตัวเปล่าลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ

ผลการสำรวจสัตว์น้ำในแหล่งบ้านปลาอย่างคร่าวๆ ซึ่งใช้เวลา 1 ชั่วโมงกว่าๆ ทางทีมนักประดาน้ำพบปลาหลายชนิดที่บังมู่สาจดบันทึกจากใต้น้ำได้ คือ ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ปลาเก๋าแดง ขี้ตังหน้าแห้ง ขี้ตังหนังสือ ปลาข้างเหลือง ปลาข้างไฝ เป็นต้น

ส่วนทีมนักตกปลาใช้เวลา 1 ชั่วโมงทดสอบได้ปลาทรายเป็นส่วนใหญ่ จำนวน 33 ตัว

“ความจริงเราน่าจะได้ปลามากกว่านี้ ตอนที่บังมู่สาลงน้ำๆมันขุ่น ทำให้ปลาหนีไปหมด” เสียงของบังสุโบ๊ชี้แจง เมื่อเสร็จภารกิจหลัก พวกเราจึงเริ่มภารกิจรองคือ ทดลองใช้เครื่องดำน้ำของบังมู่สา

บังมู่สาบอกว่า “เพื่อความปลอดภัยจะไปทดลองดำน้ำกับเครื่องปั๊มลมนี่ที่น้ำตื้น”

และเพื่อความปลอดภัยของตัวฉันๆ จึงให้เพื่อนสาวลงน้ำทดลองใช้เครื่องปั๊มลมของบังมู่สาก่อน เพชรรุ่งขึ้นจากน้ำด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แววตาเธอมีความสุข แล้วยื่นหน้ากากที่ต่อสายยางมาให้ฉันลองดู สำหรับคนที่ดำน้ำแบบ SCUBA โดยปกติจะต้องมีถังอากาศติดหลังเราลงไปใต้น้ำด้วย ...แต่นี่เราลงไปใต้น้ำตัวเปล่า ไม่ต้องแบกถักอากาศน้ำหนัก 10 กว่ากิโลไปด้วย

ไม่ว่าจะดำน้ำด้วยถังอากาศหรือเครื่องปั๊มลมมีอันตรายด้วยกันทั้งนั้น เราควรจะมีบัดดี้หรือใครสักคนไปด้วยเพื่อจะดูความปลอดภัย เช่น ดูแลน้ำมันในเครื่องปั๊มลม ตรวจสอบสายยางไม่ให้พับ หักและงอ เพราะอากาศส่งไปไม่ถึงปลายทางและคนที่อยู่ใต้น้ำจะขาดอากาศหายใจ  

ทริปดำน้ำของฉันเมื่อปีที่แล้ว เพื่อนนักดำน้ำมีเป้าหมายเดียวกันคือเก็บขยะใต้น้ำ และมีของแถมได้ชมปะการังสวยงามใต้ท้องทะเล
            แต่ทริปดำน้ำของฉันในวันนี้นักสำรวจชุมชนมีเป้าหมายเดียวกันคือการสำรวจปลา...ไม่มีปะการังและปลาสีสันสวยงาม จะมีก็แต่บ้านปลา...บ้านของปลา และปลาที่จะกลายเป็นอาหารของเราในวันข้างหน้า
            ...และมีของแถมเป็นมิตรภาพที่งดงามระหว่างฉันและเพื่อนกับนักสำรวจชุมชนที่บ้านท่าไร่แห่งนี้...ฉันรักบ้านปลาที่ท่าไร่

สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: