สิทธิชุมชนกับธรรมาภิบาล
ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งและที่ดิน (1)
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 ตุลาคม 2553
ในสังคมแห่งประชาธิปไตย สังคมแห่งการมีส่วนร่วมประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ สิทธิชุมชน
วันที่ 25-26 กันยายน 53 ที่ผ่านมามีโอกาสเข้าฟังการสัมมนาวิชาการสิทธิชุมชนกับธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งและที่ดิน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นงานที่น่าสนใจมากทีเดียวเพราะมีเจ้าภาพจัดงานถึง 4 องค์กรประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรชุมชนชายฝั่งพังงา-ภูเก็ต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามันและคณะกรรมการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง ประจำภาคใต้ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า
สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือเป็นงานสัมมนาที่ไม่ได้พูดถึงประเด็นสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรเพียงอย่างเดียว และไม่ได้พูดถึงปัญหาการบุกรุกป่าไม้ที่ดินเพียงแค่จังหวัดเดียว หากแต่เป็นการรวมกันวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นของชุมชนเกษตรและประมงพื้นบ้านจาก 5 จังหวัด สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา กระบี่และตรัง
ไม่บ่อยนักที่ เกลอเขา เกลอเล จะมาพบกันและถกเถียงปัญหาร่วมกัน แล้วพบว่าปัญหาที่กำลังประสบ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมคือ พวกเรามีปัญหาร่วมกัน คือ ความไม่เป็นธรรมและความไม่มีประสิทธิภาพของนโยบายและกลไกของรัฐในการแก้ไขปัญหาที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า ชายฝั่ง และทะเล
ชาวมอแกน ซึ่งอยู่อาศัยชายฝั่งมาแสนนาน หลังจากประสบกับธรณีพิบัติภัยสึนามิ ต้องประสบกับชะตากรรมที่ไม่ได้เลือก พบว่าที่ดินที่อยู่อาศัยมานานหลายชั่วอายุคนกลับกลายมีเจ้าของ เป็นที่ดินของนายทุน ถูกฟ้องร้องขับไล่ออกจากพื้นที่ ไม่มีแม้แต่ที่จะอยู่และไม่มีที่จอดเรือ
ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่า หลายพื้นที่กลับกลายเป็นผู้บุกรุกในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นตกเป็นจำเลย ผู้ทำผิดกฎหมาย เพราะการประกาศเขตอนุรักษ์ทับซ้อนที่ตั้งชุมชนดั้งเดิม หลายพื้นที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจทำลายผลผลิตและจับกุมดำเนินคดีทั้งแพ่ง-อาญา ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชนในกระบวนการยุติธรรม ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ตที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งหากินของชาวประมงพื้นบ้าน พื้นที่อยู่อาศัย ถูกนำไปทำธุรกิจสำหรับการท่องเที่ยว บ้านพักตากอากาศ รีสอร์ท ท่าเรือมารีนา ส่งผลกระทบถึงทรัพยากร ไม่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ชาวบ้านไม่มีรายได้ และดำเนินคดีชุมชนที่ปกป้องป่าต้นน้ำเป็นจำนวนหลายครอบครัว
การบุกรุกยึดครองที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ เช่น ในเขต ส.ป.ก. เพื่อใช้เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามลภาวะ ปัญหาด้านสุขภาพของชาวบ้าน ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและแย่งชิงทรัพยากรการใช้ที่ดินจากนายทุน ทำให้การบุกรุกใช้ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวขยายบริเวณออกไปอย่างกว้างขวาง สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น
การสัมมนาวิชาการยังไม่จบ...โปรดติดตามฉบับหน้า |