สิทธิชุมชนกับธรรมาภิบาล(ตอนจบ)
ภูเก็จโพสต์ ฉบับวันที่ 16-31 ตุลาคม 53
ต่อจากฉบับที่แล้ว ในงานสัมมนาวิชาการสิทธิชุมชนกับธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งและที่ดิน วันที่ 25-26 กันยายน 53 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้กล่าวถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของชุมชนท้องถิ่นทั้งเกษตรกร ชาวประมง ตลอดจนชาวมอแกน
ในช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายระดมความคิดเห็น ข้อเสนอและทางออกการแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าไม้ที่ดินของรัฐ การใช้กฎหมายและเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กับการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ร่วมอภิปรายมาจากหน่วยงานระดับประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งยังมีประสบการณ์ตรงจากการแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าไม้ที่ดินของรัฐ เช่น ตัวแทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) พล.ต.ต เกริก กัลยาณมิตร คณะอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบกรณีทุจริต วุฒิสภา นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โกวิท ศรีไพโรจน์ อัยการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แสงชัย รัตนเสรีย์วงศ์ ทนายความอิสระและเป็นทนายความให้กับชาวบ้านในหลายพื้นที่ มาณพ รัตนจรุงพร ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน จ.พังงา ดำเนินรายการโดย ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ กลุ่มเพื่อนประชาชนและอนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ในช่วงบ่ายบรรยากาศค่อนข้างเคร่งเครียด เพราะประเด็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนเป็นประเด็นร่วมของชาวบ้านทุกพื้นที่ ในงานนี้เองเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอันดามัน- อ่าวไทยและสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อสู้สิทธิและอำนาจการจัดการทรัพยากรให้มีผลจริงในทางปฏิบัติโดยประชาชนขอยืนยันสิทธิของตน ด้วยการสร้างกระบวนการจัดการดูแลรักษาที่ดิน ป่าไม้ และทะเลโดยกระบวนการจัดการร่วมกันของชุมชนในพื้นที่ จะไปยอมจำนนต่อการอ้างสิทธิ การอ้างข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การใช้อำนาจโดยไม่สุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และขอยืนยันว่ากระบวนการจัดการทรัพยากร ที่ดิน ป่า ทะเลดังกล่าวโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหนทางเดียวในการพิทักษ์รักษาทรัพยากรให้ยั่งยืน เป็นหนทางเดียวในการรักษาวิถีชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
และตัวแทนเครือข่ายชุนชนชายฝั่งฯ และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้มอบพวงมาลัยดอกไม้สดเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานให้กับ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เนื่องจากถูกฟ้องร้องจากการทำคดีให้กับชาวบ้าน
พวกเราประชาชนผู้มีจิตวิญญาณในการต่อสู้ จึงขอประกาศการขับเคลื่อนกระบวนการการแก้ไขปัญหาและการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่พร้อมกับผนึกกำลังเพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยของประชาชนด้วยความเชื่อมั่นว่า ระบอบประชาธิปไตยคือวิถีทางที่ถูกต้องและคือพื้นที่การหยั่งรากอันมั่นคงของอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน เพื่อที่ประชาชนผู้ทุกข์ยากเดือดร้อนในประเด็นปัญหาต่างๆ จะได้ใช้อำนาจนั้นในการแก้ไขปัญหาของตนเองเพื่อสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีหลักประกันในความเสมอภาคความเท่าเทียมความเป็นธรรมเพื่อสิทธิชุมชนในการปกครองตนเองรวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรอื่นๆ ในสังคม จักได้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม
นั้นเป็นคำประกาศเจตนารมณ์ในย่อหน้าสุดท้าย...ก่อนเครือข่ายภาคประชาชนจะกลับบ้านไปทำภารกิจอันยิ่งใหญ่...ภารกิจปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสมบัติของชาติ...
สุจารี ไชยบุญ องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน |